ข่าว

ตร.เตือน 5 พฤติกรรม "คุกคามทางเพศ" เกิดกับทุกเพศทุกวัย

ตร.เตือน 5 พฤติกรรม "คุกคามทางเพศ" เกิดกับทุกเพศทุกวัย

04 มิ.ย. 2565

ตร. ห่วงใย "การคุกคามทางเพศ" Sexual Harassment ชาย หญิง หรือเพศทางเลือก ก็เป็นตกเหยื่อได้จาก 5 พฤติกรรมที่ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ผู้กระทำต้องรับโทษทั้งจำและปรับ

4 มิ.ย.2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

 
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะนำให้ประชาชนรู้จักกับอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ว่าใครก็สามารถตกเป็นเหยื่อได้ ไม่ว่าจะเป็นหญิง ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ หรือ เพศทางเลือก ซึ่งอาชญากรรมในรูปแบบดังกล่าวก็คือ Sexual Harassment หรือภาษาไทยคือ การคุกคามทางเพศ ซึ่งหมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกในทางเพศ ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ผ่านการใช้สายตา ท่าทาง เสียง คำพูด ร่างกาย หรือสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการกระทำนั้น รู้สึกเดือดร้อนรำคาญ อึดอัด ไม่พอใจ เครียด หวาดระแวง หวาดกลัว และรู้สึกไม่ปลอดภัย
     

 

 

 

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร.

 

 

โดยพฤติกรรมการคุกคามทางเพศสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 รูปแบบหลัก ดังนี้
      1.การคุกคามด้วยคำพูดที่ไม่สมควร  เช่น การพูดเกี่ยวกับเพศ เล่นตลกเกี่ยวกับเพศ ชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ พูดถึงสัดส่วนของร่างกาย หรือพูดในลักษณะสองแง่สองง่ามในเรื่องเพศ
      2.การคุกคามทางสายตา เช่น การจ้องมองไปยังบริเวณส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
      3.การคุกคามทางร่างกาย เช่น การสัมผัสร่างกาย แตะเนื้อต้องตัว โอบกอด โอบเอว จับมือ จับขา เป็นต้น
      4.การคุกคามโดยส่งข้อความ ผ่านจดหมายหรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การเขียนจดหมาย หรือส่งข้อความลามก ตลอดจนการส่งภาพ/คลิปลามก หรือภาพอวัยวะเพศให้กับเหยื่อ
       5.การแอบถ่ายภาพ/คลิป ของเหยื่อในลักษณะลามก ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ใต้บันได ในรถขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

 

การคุกคามทางเพศ  ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจจะรู้สึกอึดอัดกับเรื่องดังกล่าว หรืออยู่ในฐานะที่ไม่อาจขัดขืนหรือหลีกเลี่ยงได้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของบุคคลดังกล่าวเป็นอย่างมาก อีกทั้งการกระทำดังที่กล่าวมา อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอีกด้วย อาทิ

1.กรณีการคุกคามทางวาจา คุกคามทางสายตา หรือคุกคามโดยการส่งจดหมายหรือข้อความ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำให้อับอายหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญในลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง และจะต้องรับโทษหนักขึ้นหากผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ เช่น เป็นผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคท้าย

 

 

2.กรณีการคุกคามทางร่างกาย หรือการแอบถ่ายภาพ/คลิป อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำอนาจาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 และหากเหยื่อเป็นเด็ก หรือมีการใช้อาวุธ หรือส่งผลให้เหยื่อได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิต อาจต้องระวางโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แล้วแต่กรณี

3.การนำภาพ/คลิป ลามกที่แอบถ่าย ไปส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ อาจเข้าข่ายความผิด ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือหากเป็นการส่งต่อภาพ/คลิปลามกเด็ก อาจเข้าข่ายความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287/1 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาท
  
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คำนึงและให้ความสำคัญผู้เสียหายทุกเพศทุกวัย จึงขอความร่วมมือไปยังประชาชน หากพบเห็นหรือตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นๆ ไม่ว่าเหยื่อที่ถูกกระทำจะเป็น ชาย หญิง หรือ เพศทางเลือกก็ตาม ขออย่าเพิกเฉยหรือปล่อยผ่านการกระทำดังกล่าว เพราะจะทำให้ผู้กระทำความผิดได้ใจ และไปก่อเหตุกับบุคคลอื่นอีก จึงไม่สมควรให้บุคคลที่มีพฤติกรรมแบบนี้มีที่ยืนในสังคม โดยหากท่านตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป