"ฝีดาษลิง" กับตุ่มบนผิวหนังเจ้าปัญหา ดร.อนันต์ เผย ภาพที่ใช้ คนละสายพันธุ์
"ฝีดาษลิง" กับตุ่มบนผิวหนังเจ้าปัญหา "ดร.อนันต์" เผย ภาพที่ใช้บนสื่อ คนละสายพันธุ์กับความเป็นจริง อาจทำคนตื่นตระหนก
อัปเดตสถานการณ์ "โรคฝีดาษลิง" ทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรก ในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจําถิ่นของโรคนี้
ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 878 ราย (เพิ่มขึ้น 66 ราย) เป็นผู้ป่วยยืนยัน 782 ราย (เพิ่มขึ้น 76 ราย) และผู้ป่วยสงสัย 96 ราย
(ลดลง 10 ราย) ใน 42 ประเทศทั่วโลก (เพิ่มขึ้น 4 ประเทศ)
ส่วนใครที่เริ่มมีผื่นขึ้นตามร่างกายในช่วงนี้ คงอดจะกังวลไม่ได้ว่านั่นคือสัญญาณบ่งบอกถึงโรค "ฝีดาษลิง" ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศของภูมิภาคยุโรปหรือไม่ แต่อันที่จริงแล้วโรคนี้ติดต่อกันได้ยากมาก ต้องอาศัยการสัมผัสทางผิวหนังระหว่างบุคคลต่อบุคคลเป็นเวลานาน แม้แต่เด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลของแอฟริกาที่เคยมีการระบาดของฝีดาษลิง ก็ยังไม่ค่อยจะติดโรคนี้กันเท่าใดนัก
ในปัจจุบันผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังมีจำนวนน้อยนิด ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่สามารถเบาใจได้ว่าโอกาสติดเชื้อนั้นต่ำกว่าที่คิดกันมาก แต่หากยังไม่คลายความกังวลสงสัย เพราะฝีดาษลิงกับโรคอีกหลายชนิด มีลักษณะของตุ่มและผื่นบนผิวหนังคล้ายกันมาก
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความ Anan Jongkaewwattana ชี้แจง ตุ่ม ของฝีดาษลิง ว่า ลักษณะอาการทางผิวหนัง
ของผู้ป่วยฝีดาษลิงในหลายประเทศในปัจจุบันแตกต่างจากภาพที่ใช้ประกอบในสื่อพอสมควร เข้าใจว่าอาจเป็นภาพที่เอามาจาก textbook หรือ จากแหล่งข้อมูลของฝีดาษลิงที่ระบาดในทวีปแอฟริกา ซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์รุนแรงในแอฟริกากลาง ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์ที่รุนแรงน้อยกว่าที่พบในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่า นอกจากอาจจะเป็นการสร้างความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็นแล้ว อาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรค กรณีที่ไม่เคยพบอาการที่เหมือนดังภาพที่สื่อสารกันตอนนี้
ภาพจากอาการของจริงมาจากผู้ป่วยที่ออสเตรเลียที่เผยแพร่ในวารสาร Eurosurveillance จะเห็นลักษณะตุ่มบนผิวหนังที่ค่อนข้างชัด ซึ่งสอดคล้อง
กับภาพที่เผยแพร่มาจากหลายประเทศก่อนหน้านี้ ซึ่งควรเป็นภาพที่ใช้สื่อสารกันมากกว่าครับ
ที่มา Anan Jongkaewwattana