ศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว ชู "แปลงใหญ่" เข้มแข็งสู่ชาวนาไทย
เพิ่งผ่านพ้นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ 5 มิ.ย. หากกล่าวถึงการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เห็นผลสำเร็จได้อย่างชัดเจน ก็คงจะหลีกหนีไม่ได้กับโครงการระบบส่งเสริม "การเกษตรแบบแปลงใหญ่" ซึ่งกลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวถือเป็นกลุ่มที่เห็นผลสำเร็จมากที่สุด
หากกล่าวถึงการรวมกลุ่มที่เห็นผลสำเร็จได้อย่างชัดเจน ก็คงจะหลีกหนีไม่ได้กับโครงการระบบส่งเสริม "การเกษตรแบบแปลงใหญ่" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่ง "กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าว" ถือเป็นกลุ่มที่เห็นผลสำเร็จมากที่สุด โดยมีแรงผลักดันและการส่งเสริมความรู้ เทคโนโลยี ด้านการผลิตข้าวให้มีมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) และตรงตามความต้องการของตลาดจากกรมการข้าว
นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตข้าวอย่างเป็นระบบเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ภายใต้โครงการระบบส่งเสริม "การเกษตรแบบแปลงใหญ่" ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกร ศูนย์ข้าวชุมชน ทั่วประเทศที่กรมการข้าวได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถ และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยที่ผ่านมาศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม จำนวน 241 ราย บนพื้นที่ 3,641 ไร่ เป็น "นาแปลงใหญ่" ที่ประสบความสำเร็จและสามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบได้ การที่ศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว ได้มาจัดแสดงในงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เป็นการขยายผลให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อื่นนำไปต่อยอดในพื้นที่ได้
นายจำนง พันธุ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว กล่าวว่า แม้ว่าศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ขอคนในกลุ่ม และการช่วยเหลือและส่งเสริมจากกรมการข้าว ทำให้ศูนย์ฯนี้กลายเป็นศูนย์ข้าวชุมชน คนต้นแบบให้กับชาวนาได้ทั่วประเทศ
สำหรับกิจกรรมหลักของกลุ่มจะดำเนินการคือ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ของชุมชนและให้บริการความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ ข้าวปลอดภัยแก่ชาวนาในชุมชน
- มีการผลิตข้าวตามมาตรฐานอินทรีย์ โดยใช้มาตรฐานการผลิตจากกรมการข้าว (Organic Thailand) 5 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไรช์เบอรี่ มะลิแดง ทับทิมชุมแพ และปิ่นเกษตร 1
- มีการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ และข้าวคุณภาพตามมาตรฐานอินทรีย์ จำนวน 17 กลุ่ม
-การประชาสัมพันธ์การจำหน่ายผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัด เครือข่ายผู้ปลูกข้าวอินทรีย์จังหวัดนครราชสีมา เครือข่ายผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัด
- สมัครเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท คำนึงกรุ๊ป อินเตอร์เทรด เพื่อจำหน่ายข้าวอินทรีย์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
-มีช่องทางติดต่อประชาสัมพันธ์และการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook ไลน์กลุ่ม และ YouTube
- เน้นการบริหารจัดการกลุ่มโดยใช้ระบบ ICS มาดำเนินการกับกลุ่มย่อย 17 กลุ่ม
- มีการลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยใช้วิธีการผลิตข้าวอินทรีย์และใช้ระบบ ICS เป็นหลักในการบริหารจัดการ
- มีการเชื่อมโยงตลาดโดยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายผลผลิตข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจรกับบริษัท เจียเม้ง จำกัด
- มีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทเอกชน
- มีกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ให้สมาชิกกู้ยืม จำนวน 50 – 100 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 1.5 – 3.0 ล้านบาท/ปี
-สมาชิกศูนย์จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด 1,000 – 3,000 บาท/ตัน เป็นต้น
ทั้งนี้กรมการข้าวมุ่งเน้นให้ "กลุ่มนาแปลงใหญ่" ยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ภายใต้การรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ สามารถกำหนดราคาข้าวได้เอง มีกำลังการซื้อและจำหน่ายข้าวได้อย่างมีศักยภาพ ร่วมไปถึงการร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
โดยกรมการข้าวจะเป็นคนกลางที่ช่วยเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ "กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่" ได้ดียิ่งขึ้นหากสนในอยากมาศึกษาเรียนรู้เทคนิคต่างๆในการลดต้นทุนการผลิต รวมกลุ่มได้อย่างยั่งยืน สามารถมาร่วมชมงานได้ระหว่างวันที่ 4– 6 มิ.ย. 2565 ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใต้ชื่องาน 90 พรรษา ชาวนาวิถีใหม่ 9 ไกลด้วยพระบารมี