"ชัชชาติ"หารือเครือข่ายผู้พิการ ลั่นปรับปรุงทางเท้า"จ้างงาน"ให้ผู้พิการ
"ชัชชาติ" หารือ เครือข่ายผู้พิการ เดินหน้าปรับปรุงทางเท้า การเข้าถึงการให้บริการทุกกลุ่ม นำร่อง ทำกทม.ให้ไร้รอยต่อก่อน พร้อมวางแผนหาพื้นที่ขายของ ส่งเสริมการ "จ้างงาน" ให้ผู้พิการ
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 เมื่อเวลา 18.00น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานเปิดการประชุมหารือการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการของกรุงเทพมหานคร ที่ห้องรัตนโกสินทร์ เสาชิงช้า โดยมีภาคีเครือข่ายคนพิการเข้าร่วมประชุม และใช้เวลาการประชุมนานเกือบ3 ชั่วโมง
นายชัชชาติ ระบุว่า ถือเป็นโอกาสดีที่เชิญภาคีเครือข่ายผู้พิการมาร่วมหารือ เพราะตามนโยบายอยากให้กทม.เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งผู้พิการก็เป็นกลุ่มคนสำคัญที่กทม.อยากดูแล และไม่ใช่แค่วีลแชร์ แต่หมายถึงผู้พิการทางการได้ยิน สายตา ออทิสติกส์ ซึ่งมีเด็กอยู่จำนวนมาก รวมถึงด้านจิตเวช ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะดูแลได้ต่องมีความเข้าใจ และได้พูดคุยถึงปัญหา ซึ่งนโยบาย กทม.ต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดนเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้นภาคีเครือข่ายจะตั้งคณะทำงานเพื่อเน้นให้เกิดการตอบโจทย์ผู้พิการทุกคนได้
“ซึ่งการทำเมืองสำหรับทุกคน ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับแค่ผู้พิการ แต่เป็นเหมือนการเข้าใจบุคคลอื่น และการดูแลซึ่งกันและกัน หมายถึงเมืองที่ดูแลห่วงใยเพื่อนที่อยู่ในเมืองเดียวกัน มีน้ำในซึ่งกันและกัน”
โดยจะต้องดำเนินการ ทั้งเรื่องทางเท้า อารยสถาปัตย์ ห้องน้ำในสวนสาธารณะ การเรียนร่วมกับผู้พิการ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ถ้าเริ่มอย่างถูกแล้ว เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นได้
นายชัชชาติ บอกถึงสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน คือเรื่อง การเดินทาง การเข้าถึงการบริการต่างๆ เพราะผู้พิการไม่ได้อยากอยู่แค่ในบ้าน ทุกคนอยากมีชีวิตมีกิจกรรม เดินทางเป็นอิสระได้ รวมถึงการจ้างงาน ถ้าเดินทางได้ก็เกิดการจ้างงานได้ แต่สิ่งสำคัญคือการไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่กทม.ต้องเข้ามาช่วยเหลือ
ทั้งนี้หากจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็ควรจะเรื่มจาก กทม.ก่อน เช่น หลายส่วนดีอยู่แล้ว แติอาจจะปรับนิดหน่อย ให้เกิดการไร้รอยต่อ
ส่วนความยากในการดำเนินการคือ "การจ้างงาน สร้างอาชีพ " เพราะคนธรรมดาก็หางานยากเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากนี้คงจะต้องมีการจัดพื้นที่ให้กับคนพิการได้ค้าขายเพิ่มขึ้นด้วย
“วันนี้ที่เชิญผู้พิการมา อยากให้ข้าราชการกทม.ทุกคนเห็นว่าภารกิจของเราไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่มีผลกับชีวิตคนทั้งชีวิต โดยเฉพาะผู้พิการที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ถ้าเราตั้งใจทำงานให้ดี เราสามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งทั้งชีวิตที่ต้องอยู่กับรถเข็นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ และเป็นภาระกิจสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ เพราะคือหนึ่งชีวิต ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากๆที่จะเปลี่ยนความสุขของครอบครัวหนึ่ง หรือชีวิตหนึ่ง
จึงให้มาเจอข้าราชการ มาเจอผู้ปฏิบัติงานจริงๆ จะได้เห็นว่า หน้าที่กทม.มีความสำคัญที่ต้องดูแล เพราะชีวิตผู้พิการก็ลำบากอยู่แล้ว ดังนั้นกทม.ก็จะต้องทำให้พวกเขามีชีวิตดีขึ้น หรือทำให้มีความสุขขึ้น เพราะความสำคัญของกทม. คือต้องให้บริการประชาชน” ชัชชาติ กล่าว
ด้านนายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. หลังจากนี้จะรวบรวมประเด็นความต้องการต่างๆ มาจัดทำเป็นแผนให้ตอบโจทย์ สองร้อยกว่าข้อให้เป็นจริง เพื่อนำคนพิการมามีส่วนร่วมทุกประเภท เพื่อให้ร่วมขับเคลื่อนและตอบโจทย์ที่ประชาชนให้ความเห็นชอบและอะไรที่เคยติดขัด4ปีนี้จะดำเนินการให้ดีขึ้น