ข่าว

วุ่นมั้ย "ปลดล็อกกัญชา" เมื่อยังงงกับข้อกฎหมาย ใช้ยังไงกันแน่

วุ่นมั้ย "ปลดล็อกกัญชา" เมื่อยังงงกับข้อกฎหมาย ใช้ยังไงกันแน่

09 มิ.ย. 2565

"ปลดล็อกกัญชา" กัญชาเสรี วุ่นมั้ย เอายังไงกันแน่ เมื่อยังงงกับข้อกฎหมาย กัญชาถูกกฎหมาย สูบได้หรือไม่ หาคำตอบกันได้ที่นี่

เป็นอันรู้กันแล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป กฎหมาย "ปลดล็อกกัญชา" กัญชาเสรี ออกจากยาเสพติด มีผลบังคับใช้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ทำให้หลายคนสงสัยว่า หลังวันที่ 9 มิ.ย. เราสามารถทำอะไรได้บ้าง แล้วอะไรที่ทำแล้วยังผิดกฎหมาย

โดยหากอิงจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการถอดถอน กัญชา ออกจากรายชื่อสารเสพติดให้โทษในประเภท 5 หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ปลดล็อกกัญชา ทำให้พืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังด้วยเช่นเดียวกัน เพราะตามข้อกฎหมายระบุชัดเจนว่า อนุญาตเฉพาะ พืชกัญชา-กัญชง ที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% เท่านั้น หากเกิน ก็ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5


แต่ดูเหมือนว่า ก็ยังมีข้อถกเถียงสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ที่ประชาชนสนใจใคร่รู้และหาคำตอบ คือ

 

"ปลดล็อกกัญชาแล้ว เอามาสูบได้หรือไม่?"

"กัญชาถูกกฎหมายสูบได้หรือไม่?"

"ผิดกฏหมายข้อไหน ถ้าสูบกัญชา?"

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงจุดยืนของการปลดล็อกกัญชาในครั้งนี้เพื่อประโยชน์ใน 3 เรื่อง ได้แก่

 

  1. เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
  2. เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กลุ่มเครื่องสำอาง สมุนไพร อาหาร และส่งเสริมงานวิจัยนวัตกรรม
  3. เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง

 

ดังนั้น หากใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป ก็ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ก่อน รวมถึงคนอย่างพวกเรา หากคิดจะปลูก ก็ต้องปลูกในที่ที่มีรั้วรอบขอบชิดเท่านั้น และไม่นำมาใช้ทางสาธารณะด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเรื่องการ "ปลดล็อกกัญชา" ในหลายประเด็นเกี่ยวกับการสูบกัญชา เช่น 

 

"ถ้าเป็นในบ้านมิดชิดสูบได้หรือไม่" อนุทิน กล่าวว่า "ไม่ย้ำ อยู่ที่จิตสำนึก มีกฎหมายอยู่ แต่ไม่เคยรณรงค์ให้มีการสูบกัญชาเพื่อผ่อนคลายใด ๆ เพราะไม่ได้อยู่ในเป้าหมายที่จะนำกัญชาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ สธ.นำพืชกัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ การนำมาสูบไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นโทษด้วย"


"แม้ไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ไม่ถอดกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คนที่สูบก็ยังสูบอยู่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็สามารถไปดำเนินคดีตามกฎหมาย และหากใครเห็นแล้วก่อให้เกิดความรำคาญ ก็กำลังจะใช้กฎหมายเหตุก่อให้เกิดความรำคาญของกรมอนามัย" 

 

"หลังจากวันที่ 9 มิ.ย.2565 ที่มีการปลดล็อกกัญชา กัญชงแล้ว ถ้าเจอคนสูบถือว่าผิดกฎหมายอยู่หรือไม่" อนุทิน ตอบว่า 

"ถ้าตำรวจเจอก็สามารถที่จะเข้าตรวจค้นได้ อย่าไปเสี่ยง เพราะถ้าสูบแล้วเอามาวิเคราะห์ มาตรวจแล้วพบว่า ไม่ได้อยู่ในกรอบที่กฎหมายระบุว่า ไม่ใช่ยาเสพติด เช่น พบว่าTHC เกิน 0.2 % ก็เสร็จ ไม่ต้องตีความ ไม่ต้องอ้างว่าเสรีแล้ว เพราะบอกแล้วว่ามีข้อจำกัดอยู่ว่าแค่ไหนกัญชาถูกกฎหมาย"


"ปลดล็อกกัญชา" แล้วประชาชนอย่างเรา สามารถทำอะไรได้บ้าง

 

  • สามารถปลูกได้ในครัวเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษา และดูแลสุขภาพ กี่ต้นก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่จดแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ของ อย.
  • สามารถซื้อได้ รวมถึงนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง และส่วนอื่น ๆ โดยไม่ต้องขออนุญาตยาเสพติด แต่ต้องขออนุญาตผ่าน พ.ร.บ.พันธุ์พืช แทน
  • ส่วนเรื่อง เสพกัญชา ยังคงเป็นที่กังขาอยู่ ต้องรอ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ต่อไปสำหรับกรณีการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม

 

นอกจากนี้ หลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่มีการปลดล็อกกัญชาเสรี ยังส่งผลถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนรูปคดีความผิดเกี่ยวกับกัญชา เนื่องจากพืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป ดังนี้

 

  • ผู้ต้องหาและจำเลยที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีกัญชาทั้ง ผลิต ขาย เสพ ครองครอง พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
  • ยกเลิกการฝากขัง ปล่อยตัวผู้ต้องหา เกี่ยวกับคดีกัญชาจะถูกยกฟ้อง
  • หากจำเลยได้รับโทษอยู่ อาทิ ถูกกังขัง, ควบคุมการประพฤติ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
  • ศาลไม่สามารถคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาซึ่งศาลเคยมีพิพากษาก่อนหน้า มาเป็นเหตุเพิ่มโทษได้
  • ตำรวจไม่สามารถริบกัญชาได้ เนื่องจากพืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสองพืช กัญชา กัญชง จะกลายเป็นของถูกกฎหมายแล้ว แต่ผู้ซื้อและผู้ขาย ก็ต้องศึกษาผลข้างเคียง และข้อกฎหมายต่อไป เพื่อให้พืชเสรีนี้ เกิดประโยชน์สร้างสรรค์อย่างแท้จริง

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วน healthserv.net