กรมชลฯวางแนวป้องเศรษฐกิจ "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" หลังท่วมปี 64
กรมชลประทานวางแนวป้องเศรษฐกิจ "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" หลังท่วมปี 64 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่และภาพรวมของประเทศ
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลัง เข้าร่วมประชุมคณะทำงานบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วม "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" และพื้นที่โดยรอบ ร่วมกับนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง เป็นประธาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ "นิคมอุตสาหกรรมบางปู"
ภายหลังเกิดน้ำท่วมเมื่อ 26-29 ส.ค. ปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่และภาพรวมของประเทศ ซึ่งแต่ละปี "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" มีมูลค่าการผลิตปีละประมาณ 49,590 ล้านบาท มีผู้ใช้แรงงานประมาณ58,000 คน มีโครงการประมาณ 370 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 203,594 ล้านบาท
ทั้งนี้กรมชลฯได้วางแผนงานโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาไว้ 3 ระยะ ประกอบด้วยระยะเร่งด่วนปี 64-65 มีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำและจัดหาเครื่องสูบน้ำทดแทน ระยะกลาง ปี 2566 ได้แก่ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบควบคุมเครื่องสูบน้ำและการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบโทรมาตร ระยะยาว ปี 2567-70 ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมพิจารณาโครงการเบื้องต้น
อาทิ การปรับปรุงประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำ รวมถึงการปรับปรุงคลอง และก่อสร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันกรมชลฯได้มีการปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพเครื่องสูบน้ำของกรมชลฯที่ประจำการ ณ สถานีสูบน้ำต่าง ๆ ตามแผนเร่งด่วนแล้วเสร็จและพร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมกรณีเครื่องมือของนิคม ฯไม่เพียงพอ
นอกจากนั้นเพื่อรักษาพื้นที่เศรษฐกิจ กรมชลฯได้ปรับแผนงานระยะยาวตามที่จังหวัดวางไว้ในปี 2568-70 มาเป็นโครงการในงบประมาณปี 2566 เพื่อให้เป็นไปตามงานนโยบายที่จะต้องเพิ่มศักยภาพสถานีสูบน้ำบริเวณคลองชายทะเล เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำที่นิคมและคลองโดยรอบออกสู่ทะเล
อาทิ การปรับปรุงสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร 1,2 ปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองด่าน ปรับปรุงสถานีสูบน้ำบางปลา สถานีสูบน้ำบางปลาร้า สถานีสูบน้ำตำหรุ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในการดูแลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร
สำหรับการเตรียมการของเขตนิคมบางปูเองนั้น จะรับผิดชอบในการขุดลอกคลองในเขตนิคม กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น โดยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำในเขตนิคมบางจุดเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่คลองหลัก นายเฉลิมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ระยะยาวทางจังหวัดและกรมเห็นว่าควรเพิ่มสถานีสูบน้ำอีก 3 แห่ง เบื้องต้นทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดพร้อมสนับสนุนงบประมาณ แต่อยู่ระหว่างหารือเพราะอำนาจบริหารน้ำต้องขึ้นกับรัฐ
สำหรับการประชุมแก้ปัญหาน้ำท่วม "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" และพื้นที่โดยรอบ สืบเนื่องจากช่วงวันที่ 26-29 สิงหาคม พ.ศ.2564 เกิดฝนตกหนัก วัดปริมาณน้ำฝนที่สถานีคลองสำโรง ได้ 228 มิลลิเมตร และสำหรับในพื้นที่นิคมฯ วัดได้ 200 มิลลิเมตร ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเกิดน้ำทะเลหนุนสูง และพื้นที่ลุ่มต่ำจึงทำให้เกิดน้ำท่วมขัง และเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดยมีพื้นที่น้ำท่วมในนิคมฯ กว่า 5,000 ไร่