ข่าว

"ค่าเช่าบ้านครู"หรือฟื้น"บ้านพักครู" รอผู้ว่าฯกทม.ชี้ขาด

"ค่าเช่าบ้านครู"หรือฟื้น"บ้านพักครู" รอผู้ว่าฯกทม.ชี้ขาด

19 มิ.ย. 2565

"ค่าเช่าบ้านครู"หรือฟื้น"บ้านพักครู"กรมบัญชีกลาง ชี้ทางออก"ครูกทม."14,000 ชีวิตไม่ใช่คนในในพื้นที่ทั้งหมด แต่อยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมาย 2 ฉบับ โยน "ชัชชาติ" ผู้ว่าฯ กทม.ชี้ขาดเลือกทางไหนดี

สืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวเรื่อง “ค่าเช่าบ้านครู” ที่มีนายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ได้ทำการร้องเรียนไปยัง ส.ส.ดร.ปรีดา บุญเพลิง และล่าสุดที่ได้ร้องเรียนไปยัง ส.ส.รศ.ดร.สรุวาท ทองบุ จนนำเรื่องนี้ไปสู่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาฯ ได้ส่งหนังสือไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

 

ส่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ "กรมบัญชีกลาง" ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือที่ กค 0408.5/19020 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เรื่อง ขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เรียน รองศาสตราจารย์ ดร.สรุวาท ทองบุ อันมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ตามที่มีหนังสือกราบเรียนประธานสภาผู้แทนฯว่า ครู กทม.มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดต้องเช่าที่พักอาศัยอยู่และไม่มีสิทธิ์เบิกค่าเช่าบ้าน ขอให้แก้ไข พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ค่าเช่าบ้านให้ครอบคลุมถึงครู กทม. หรือผลักดันให้มีโครงการบ้านพักอาศัยให้ครู กทม.ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

กรมบัญชีกลางได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังได้นำเรียนได้ว่า ข้าราชการครู กทม.อยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกทม.และบุคลากร กทม.2554 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแม้จะแก้ไข พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้าน ก็ไม่ทำให้ครู กทม.มีสิทธิในการเบิกค่าเช่าบ้านได้ เพราะ กทม.ได้รับการประกาศจากกระทรวงการคลังให้เป็นท้องที่เดียวกัน จะเบิกได้ก็ต้องเป็นต่างท้องที่และเข้าเงื่อนไขอื่น ๆ ประกอบ และการผลักดันให้มีโครงการบ้านฯ เห็นว่าเป็นอำนาจของต้นสังกัดร่วมกับสถาบันการเงิน เรื่องนี้จึงต้องสอบถามไปยังต้นสังกัด

 

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน  2565 “คมชัดลึกออนไลน์” ได้สอบถามไปยังนายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ ได้รับการเปิดเผยว่า “ตามที่ตนได้ร้องเรียนไปยัง ส.ส.ทั้ง2 คนคือ ดร.ปรีดา บุญเพลิง และรศ.ดร.สุรวาท  ทองบุ ตนเข้าใจพระราชกฤษฎีกาตามที่กรมบัญชีกลางที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ตอบหนังสือมายัง ส.ส.สุรวาท เพียงแต่มีประเด็นว่าในเมืองมหานครมีค่าครองชีพสูงประกอบกับที่พักอาศัยไม่เพียงพอ และครู กทม.มีภูมิลำเนามาจากต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ จึงประสงค์จะให้มีการแก้ไข พ.ร.ฎ.ค่าเช่าบ้านหรือดำเนินการตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้อำนาจกระทำได้ เพื่อให้ได้สิทธิ “ค่าเช่าบ้านครู” 

หรือให้มีโครงการบ้านพักอาศัยสำหรับครู กทม.และบุคลากรทางการศึกษา และในความเป็นจริงแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ กทม.ฯ 2554ได้มีมาตรา 44 ให้นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ มาใช้โดยอนุโลม 

 

อย่างไรก็ตาม กทม.ย่อมมีอำนาจกำหนดให้สิทธิประโยชน์แก่ข้าราชการ กทม.อยู่แล้ว เช่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ กทม.ฯ 2554 มาตรา 49 วรรคสอง บัญญัติว่า “ข้าราชการกรุงเทพมหานครอาจได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ก. กำหนด”

 

ดังนั้น ตรงนี้เป็นความท้าทายของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ว่า จะยกฐานะคุณภาพชีวิตครู กทม. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้หรือไม่ ซึ่งก็คือการได้ให้สวัสดิการแก่ครูกทม.ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่ในเมืองหลวงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ค่าเช่าบ้านครู” หากที่พักอาศัยไม่เพียงพอ หรือจะมีโครงการบ้านและที่อยู่อาศัยของข้าราชการ กทม.เหมือนโครงการบ้านยิ้ม 1 เมื่อปี 2552 บ้านยิ้ม 2 เมื่อปี 2553 และบ้านยิ้ม 2 (เพิ่มเติม) เมื่อปี 2554 ก็ได้ 

 

"ผมอยากจะฝากให้ท่านผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ด้วยความเคารพ ได้เห็นความสำคัญในเรื่องตรงนี้ด้วย” ประธานชมรมครู กทม.ออนไลน์กล่าว

 

อนึ่ง ครูกทม. หรือข้าราชการครูกทม.ปัจจุบันมีประมาณ 14,000 คน ส่วนมากไม่ใช่คนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องเช้าบ้านอยู่อาศัย ส่วนบ้านพักครูมีน้อยและต้องลงทะเบียนต่อคิวยาว เนื่องจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครไม่มี "บ้านพักครู" ทุกโรง ทำให้ส่วนมากได้ความเดือดร้อนเนื่องจาก"ค่าเช่าบ้านครู"ในเมืองหลวงราคาสูงกว่าต่างจังหวัดมาก