ข่าว

"ชัชชาติ" เร่งทำงบปี66 เผย วงเงิน 7.9 หมื่นล้าน

"ชัชชาติ" เร่งทำงบปี66 เผย วงเงิน 7.9 หมื่นล้าน

14 มิ.ย. 2565

ชัชชาติ เผย งบประมาณปี66 จำนวน 7.9หมื่นล้านบาท เตรียมส่งสภาให้ทัน20 มิ.ย.นี้ เร่งรัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเป็นรายได้หลักกทม.

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.65 ที่ศาลากลางกรุงเทพมหานคร  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จะต้องนำส่งให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาภายในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ก่อนจะเริ่มงบประมาณปี2566 วันที่ 1 ต.ค.นี้ วงเงินทั้งหมด 79,000ล้านบาท หลายส่วนเป็นโครงการที่ตั้งมาแล้ว แต่โครงการที่อยู่ในนโยบายยังไม่สามารถนำเข้างบประมาณได้ ซึ่งคาดว่าจะต้องนำไปใส่ในวาระ2-3 ที่จะปรับงบประมาณอีกครั้ง

ทั้งนี้เป็นข้อสังเกตว่า กทม.มีงบผูกพันธ์ อยู่จำนวนมาก 126โครงการ วงเงินรวม 98,710 ล้านบาท โดยปี2566มีงบผูกพัน 14,722ล้าน  และปี 2567วงเงิน 24,854 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว ทั้งนี้คงต้องให้เป็นไปตามระเบียบงบประมาณ แต่งบลงทุนใหม่ปี 2566มีทั้งหมด 1,695 ล้านบาท ประมาณ 2.15%

นายชัชชาติ กล่าวว่า จะพยายามผลักดันนโยบายให้มากที่สุด โดยมี2รูปแบบ คือ 1.นโยบายบางส่วนมีบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติราชการอยู่แล้วก็จะผลักดันต่อ 2.ที่ไม่มีก็ต้องบรรจุเข้าแผนปฏิบัติราชการ จะนำมาหารือในวาระที่ 2 คาดว่า ขั้นตอนในวาระ 2 น่าจะเสนอแผนเข้าไปได้ เพราะนโยบายบางส่วนก็ไม่ต้องใช้เงิน

 

สำหรับงบประมาณที่คาดว่าจะใช้จำนวนมาก คือ ระบบติดตั้งสัญญาณไฟจราจร แต่ได้หารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลไว้แล้ว จะต้องดูว่ามีงบส่วนไหนเข้ามาดำเนินการได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการปรับปรุงซ่อมแซม ทางเท้า ท่อระบายน้ำ ถนนต่างๆ ก็ยังมีเงินของปี 2565 ที่ยังใช้ไม่หมด ก็นำมาใช้ได้ 

นายชัชชาติ ยอมรับว่า ยังกังวลเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งช่วง2ปีที่ผ่านมารัฐบาลให้เก็บภาษีร้อยละ 10 ขยายเวลาและให้ผ่อนจ่ายได้ แต่ปัจจุบันเก็บได้ 22,000 ล้านบาทเท่านั้น ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่เก็บเต็มที่ในภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากภาษีโรงเรือน จึงต้องเร่งรัด เพราะเป็นรายได้หลักของ กทม.

ส่วนกรณีเรื่องการก่อสร้างที่ทำให้ล่าช้า และเวลาบานปลาย จะมีผลทำให้งบประมาณบานปลายด้วยหรือไม่นั้น มองว่า การก่อสร้างล่าช้าไม่ได้ทำให้งบบานปลาย แต่ก็ต้องเสนอไปยังรัฐบาล ถึงการดูเรื่องมาตรการผ่อนผันช่วงโควิด เพราะจะทำให้เร่งรัดงานการก่อสร้างลำบาก ซึ่งหลังจากนี้ กทม.ก็จะต้องไปดูสัญญาก่อสร้างอย่างเอาจริงเอาจังหากช้าก็ต้องปรับ แต่หากได้เงื่อนไขในการผ่อนผันจากรัฐบาลมาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้