ข่าว

ครม.อนุมัติ "มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG" วงเงิน 3.5 พันล้านบาท

ครม.อนุมัติ "มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG" วงเงิน 3.5 พันล้านบาท

14 มิ.ย. 2565

ครม.อนุมัติวงเงิน 3,566.28 ล้านบาท ขับเคลื่อน "มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG" ครอบคลุม 7,435 ตำบล ใน 77 จังหวัด จ้างบัณฑิตจบใหม่และประชาชน กว่า 68,350 คน คาดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท/เดือน

14 มิ.ย.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และ นวตกรรม (อว.) ดำเนิน “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)หรือ "มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” ใน 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,566.28 ล้านบาท

 

โดยจะเกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไปและบัณฑิตจบใหม่ จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350 คน เศรษฐกิจในพื้นที่หมุนเวียนระหว่างดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600ล้านบาท/เดือน โดยจะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ อว. ไปขับเคลื่อนภาคการผลิตและบริการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรักษาระดับการจ้างงาน

โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) หรือ "มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” มีวัตถุประสงค์ คือ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อทักษะการทำงานในปัจจุบันและที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG รวมทั้ง พัฒนาฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ (Thailand Community Big Data :TCD) ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในพื้นที่ของประเทศ

 

กลุ่มเป้าหมาย คือ บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชนในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษาภาคประชาชนภาคสังคมและภาคส่วนต่างๆ โดยมีการจัดกิจกรรมไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ในพื้นที่ 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ 77 จังหวัด เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและบริการ เพื่อเพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุน การจัดการตลาด การจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาบรรจุการขนส่งและการกระจายสินค้าและบริการ เป็นต้น 

การขับเคลื่อน "มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” โดยสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ (ตำบล) ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการ ระบบ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวางแผนและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

 

การจ้างงาน  พื้นที่ 3,000 ตำบล ต่อยอดจากโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จำนวน 8 คน/ตำบลประกอบด้วยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามาไม่เกิน5 ปีจำนวน 4 คน/ตำบล และผู้ที่ถูกเลิกจ้างและประชาชนในพื้นที่จำนวน 4 คน/ตำบล

 

พื้นที่ 4,435 ตำบลใหม่ จำนวน 10 คน/ตำบลประกอบด้วยบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 5 ปี 5 คน/ตำบลและผู้ที่ถูกเลิกจ้างประชาชนในพื้นที่ 5 คน/ตำบล  
ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. 2565

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงประโยชน์ที่จะคาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการ คือ เกิดกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG ไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนไม่น้อยกว่า 4,500 รายการ เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป และ "บัณฑิตจบใหม่" จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350 คน เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระหว่างการดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท/เดือน มีการ Upskill/Reskill พัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งการใช้สามารถจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวิเคราะห์การจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ครบทุกพื้นที่