"ไทยสร้างไทย"สอบ "ส.ว." ตั้งเครือญาติเป็น "ผู้ช่วยฯ"โกยไปกว่าพันล้านบาท
"ไทยสร้างไทย" ร้องกรรมาธิการ ปปช.ตรวจสอบ "ส.ว." ตั้งเครือญาติเป็น "ผู้ช่วยส.ว." สามปี โกยไปแล้วกว่า พันล้านบาท ผิดจริยธรรมหรือไม่
ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้อำนวยการกองการสื่อสารพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ ปปช. ให้สัมภาษณ์กรณีที่ ไอลอว์ (iLaw) ได้ออกมาเปิดข้อมูลว่ามีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)หลายสิบคน แต่งตั้งเครือญาติตนเอง เป็นผู้ช่วยส.ว. เพื่อรับเงินเดือนหลักหมื่น กินงบประมาณประเทศกว่าพันล้านว่า
จะนำเรื่องดังกล่าวยื่นร้องต่อประธานคณะกรรมาธิการปปช. ซึ่งมีพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการปปช.ตรวจสอบว่ากลุ่มสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ดังกล่าว ประพฤติผิดมิชอบ และอาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.185 หรือไม่ในการประชุมคณะกรรมาธิการ ปปช.ภายในวันพุธ ที่ 22 มิถุนายนนี้
“ผมไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับเงินภาษีของพี่น้องประชาชนโดยตรง และอาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของส.ว. และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนเรื่องการไม่ให้สมาชิกรัฐสภานำตำแหน่งของตน แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และหากข้าราชการสภาท่านไหนรู้เห็นไปใจก็อาจผิด ม.157 เช่นกัน”
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยื่นขอข้อมูลได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกคนจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา
คำตอบของสำนักเลขาธิการวุฒิสภาเมื่อ 13 มิถุนายน 2565 คือ “ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่อาจเปิดเผยได้” พร้อมทั้งระบุว่าสามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารได้ภายใน 15 วัน
iLaw จึงเตรียมดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูล เนื่องจากเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ที่ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาสามารถเก็บรวบรวมและเปิดเผยได้ เพราะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว. เป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินงบประมาณของประเทศ ดังนั้น สาธารณชนย่อมมีสิทธิที่จะรับรู้ถึงการแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้น อีกทั้งลำพังเพียงรายชื่อและตำแหน่งของคณะทำงาน ส.ว. หรือ ผู้ช่วยส.ว. ก็เป็นข้อมูลที่พึงรับรู้ได้ ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวแต่อย่างใด
ไอลอว์เปิดเผยข้อมูลว่า นอกจากเงินเดือน+เงินประจำตำแหน่ง ของสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. กว่าแสนบาทต่อคนต่อเดือนแล้ว สมาชิกวุฒิสภายังสามารถแต่งตั้งคณะทำงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้อีก 3 ตำแหน่ง รวมทั้งหมด 8 คนประกอบด้วย
1. ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว มีได้ 1 คน รับเงินเดือน 24,000 บาทต่อคน
2. ผู้ชำนาญการประจำตัว มีได้ 2 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน
3. ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวหรือผู้ช่วยส.ว. มีได้ 5 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน
หากนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 หรือภายในระยะเวลา 3 ปีที่ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเข้ารับตำแหน่งในวุฒิสภา ลองคำนวณยอดเงินงบประมาณที่ต้องจ่ายเพื่อตำแหน่งในคณะทำงาน ส.ว. จะรวมแล้วกว่าพันล้านบาท