ข่าว

ประธาน "วุฒิสภา" ยัน ตั้ง "ผู้ช่วยส.ว." ไม่ขัดจริยธรรม

ประธาน "วุฒิสภา" ยัน ตั้ง "ผู้ช่วยส.ว." ไม่ขัดจริยธรรม

20 มิ.ย. 2565

ตั้ง "ผู้ช่วยส.ว." ดำเนินการตามกฎหมายมาตั้งแต่ สนช. ประธาน "วุฒิสภา" ยืนยัน ไม่มีส่วนไหนที่ขัดจริยธรรมนักการเมือง

 

ประธาน \"วุฒิสภา\" ยัน ตั้ง \"ผู้ช่วยส.ว.\" ไม่ขัดจริยธรรม

 

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหลายสิบคนแต่งตั้งเครือญาตตนเองเป็นผู้ช่วย ส.ว.เพื่อรับเงินเดือน ว่า เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตามระเบียบมีตำแหน่งผู้ช่วยประจำตัว สนช. ได้ 8 ตำแหน่ง แต่ตอนนั้นตนมองว่ามากไปจึงขอให้ตัดเหลือเพียง 5 ตำแหน่ง แต่มาในสมัยวุฒิสภาชุดปัจจุบัน หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ดำเนินการตามระเบียบคือให้ ส.ว.มีผู้ช่วยดำเนินงานจำนวน 8 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เทียบเท่ากับผู้ช่วย ส.ส.ที่มี 8 คนเช่นกัน

 

ประธานวุฒิสภาระบุว่า เท่าที่ทราบ ส.ว. หลายคนไม่ได้แต่งตั้งผู้ช่วยดำเนินงาน เช่น ส.ว.สัดส่วนที่มาจากเหล่าทัพ และเคยได้รับการอธิบายเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยยังไม่มาทำงานในสภาว่าบางตำแหน่งจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งบุคคลที่ไว้ใจเข้ามาทำงาน จึงจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งเครือญาตขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว และกรณีนี้ก็มีเกิดขึ้นทั้งในส่วนของ ส.ว. และ ส.ส. ที่มีความคิดและประสงค์จะใช้คนที่เขาไว้ใจ

ส่วนที่จะมีการยื่นขอให้คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวช เป็นประธาน ดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อจริยธรรมหรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ในเมื่อไม่ผิดต่อกฎหมาย จะเป็นการผิดจริยธรรมได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้มีกฎหมาย มีระเบียบมานานแล้ว อีกทั้งทางวุฒิสภาก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราผู้ช่วยดำเนินการแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยื่นขอข้อมูลได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกคนจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภาคำตอบของสำนักเลขาธิการวุฒิสภาเมื่อ 13 มิถุนายน 2565 คือ “ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่อาจเปิดเผยได้” พร้อมทั้งระบุว่าสามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารได้ภายใน 15 วัน

iLaw จึงเตรียมดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูล เนื่องจากเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ที่ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาสามารถเก็บรวบรวมและเปิดเผยได้ เพราะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว. เป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินงบประมาณของประเทศ ดังนั้น สาธารณชนย่อมมีสิทธิที่จะรับรู้ถึงการแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้น อีกทั้งลำพังเพียงรายชื่อและตำแหน่งของคณะทำงาน ส.ว.  หรือ ผู้ช่วยส.ว. ก็เป็นข้อมูลที่พึงรับรู้ได้ ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวแต่อย่างใด

 

ติดตามทุกความทุกข่าวสารจากคมชัดลึกได้ที่