ด่วน! เจ้าของ"ร้านดารุมะ" ออกนอกประเทศแล้ว ด้านทนายรัชพล พาเหยื่อร้องปคบ.
ผู้บริหารบุฟเฟ่ต์แซลมอนดังร้าน "ดารุมะ" หนีออกนอกประเทศแล้ว ตั้งแต่16 มิ.ย. ด้านทนายรัชพล พากลุ่มผู้เสียหายร้องปคบ. เชื่อมีคนร่วมขบวนการด้วย
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้นายเมธาผู้บริหารร้านดารุมะ ซูชิ เดินทางไปยังประเทศดูไบ ด้วยสายการบินเอมิเรตส์ ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว
โดยวันนี้นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความนำผู้เสียหายที่ซื้อคูปอง บุฟเฟ่ต์แซลมอน แล้วปิดร้านหนี เข้าแจ้งความ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. หลังผู้เสียหายเข้าขอความช่วยเหลือทางคดี
ทนายรัชพล เปิดเผยว่า เดินทางมาในวันนี้ เรียกร้องให้ ปคบ. ทำคดีและรวมสำนวนคดี เพื่อให้ง่ายต่อการทำคดี โดยตนเองรับเป็นทนายว่าความในคดีนี้ ขณะนี้เบื้องต้นมีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท มีผู้เสียหายเข้ามาในกลุ่มขอให้ตนทำคดีแล้วกว่า 400 ราย แต่หลายรายไม่สะดวกที่จะเดินทางมาแจ้งความด้วยตนเอง
จากพฤติการณ์ เบื้องต้นพบว่า มีลักษณะเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน พร้อมให้การช่วยเหลือเป็นทนายว่าความให้โดยขอให้ประชาชนที่ยังไม่ได้แจ้งความ ติดต่อมาหาได้ตลอดเวลา
ด้านนายอัญพัชร์ ปิยะสถิตย์โชติ 1 ผู้จัดการสาขา เล่าว่า เหตุที่ต้องมาแจ้งความวันนี้ เนื่องจากพนักงานก็ได้รับผลกระทบจากการปิดร้าน ต้องตกงานโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า จึงต้องแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ต้องการให้เจ้าของแบรนด์ ออกมาให้คำตอบที่ชัดเจนกับพนักงานและลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขณะนี้พนักงานลำบากมาก ไม่รู้ ชะตากรรมว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยในวันพรุ่งนี้กลุ่มพนักงานจะเดินทางไปสำนักงานประกันสังคม เพื่อขอรับความช่วยเหลือ
สำหรับการบริหารด้านการเงินของบริษัททั้งหมด รายได้ รายรับ รายจ่าย เจ้าของแบรนด์จะเป็นคนดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ผู้จัดการสาขาทุกคน มีหน้าที่เพียงรับพนักงานและตกลงอัตราค่าจ้าง และสรุปรายละเอียดค่าแรงพนักงานในแต่ละเดือนให้เขาเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาการจ่ายเงินเดือนไม่มีปัญหา ประกอบกับการเดินทางไปต่างประเทศ เจ้าของแบรนด์ก็เป็นเรื่องปกติที่จะเดินทางไปทุกๆ 2-3 เดือน แต่มาผิดสังเกตก่อนเกิดเรื่องเพียง 2-3 วันเท่านั้น พบว่าไม่มีการสั่งสินค้าที่ต้องใช้ภายในร้านเข้ามาเติมแต่อย่างใด และมีการลบตัวเองออกจากกลุ่มไลน์ทุกกลุ่มและไม่สามารถติดต่อได้
ด้านพ.ต.อ.เชษฐ์พันธ์ กิติเจริญศักดิ์ ผกก.1 บก.ปคบ กล่าวว่า เบื้องต้นจะรับเรื่องทั้งหมดไว้พิจารณา มีแนวโน้มว่าจะรวมเป็นสำนวนเดียวกันได้ โดยจากพฤติการณ์เข้าข่ายลักษณะการฉ้อโกง แต่ยังต้องรอการสอบสวนอย่างละเอียด ทั้งผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์และผู้ที่ซื้อคูปอง พร้อมยอมรับว่าการซื้อขายแฟรนไชส์ คล้ายกับแชร์ลูกโซ่ ส่วนตัวเจ้าของแบรนด์จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเดินทางออกนอกประเทศไปแล้วส่วนจะไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือไม่ ยังไม่ยืนยัน ตำรวจไม่มีอำนาจตรวจสอบ เพราะขณะนั้นยังไม่เป็นคดีความ
อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ ปคบ.ทำคดีนี้ พร้อมให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ หลังจากนี้หากผู้เสียหายจากเจ้าแจ้งความสามารถติดต่อมาได้โดยตรงที่ปคบ.