71 ลูกจ้าง "ดารุมะ ซูชิ" มีสิทธิได้รับเงิน ประกันสังคม 50% เช็คเงื่อนไขด่วน
จากกรณีร้าน "ดารุมะ ซูชิ" ลอยแพพนักงาน พบ 71 ลูกจ้าง อยู่ใน ประกันสังคม มีสิทธิได้รับเงินค่าว่างงาน 50% ของค่าจ้าง เช็คเงื่อนไขด่วน
(21 มิ.ย.2565) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างร้าน "ดารุมะ ซูชิ" ที่ถูกเลิกจ้างว่า ทันทีที่ทราบข่าว ได้เร่งสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ตรวจสอบ และเร่งให้ความช่วยเหลือในทันที ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ร้าน "ดารุมะ ซูชิ" ได้จดทะเบียนในนามบริษัท ดารุมะ ซูจิ จำกัด
มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 87 โครงการ เดอะ แจส รามอินทรา ชั้นที่ 2 ห้องเอ 217 ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการ ร้านอาหารญี่ปุ่น มีนาย เมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการ มีลูกจ้าง 71 คน ได้เปิดให้บริการอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ้นจำนวน 27 สาขา กระทั่งเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้จัดการสาขาได้ประกาศปิดร้าน และเลิกจ้างพนักงาน
โดยในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ได้ไปที่สำนักงานใหญ่ แต่ไม่พบบุคคลใด จึงปิดหนังสือเชิญนายจ้างมาพบ เพื่อให้ข้อเท็จจริงในวันที่ 27 มิถุนายน 2565
นายสุชาติ ยังกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือในส่วนของกระทรวงแรงงาน ว่า การช่วยเหลือด้านประกันสังคม สำนักงานใหญ่เป็นผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ให้แก่ลูกจ้าง ทั้งของสำนักงานใหญ่มี 8 คน และของสาขา 63 คน เบื้องต้นมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนรวม 71 คน ลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนแล้ว 71 คน เมื่อถูกเลิกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินค่าว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
หากมีลูกจ้างที่สำนักงานใหญ่ยังไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการให้นายจ้างยื่นขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และให้นำส่งเงินสมทบ เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งหากมีหลักฐานว่า มีการจ้างงาน มีนิติสัมพันธ์นายจ้าง ลูกจ้างกันจริง เช่น มีสลิปการจ่ายค่าจ้าง หรือหลักฐานอื่น ๆ ก็ถือว่าลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทน เช่น กรณีเลิกจ้าง หากมีหลักฐานว่าทำงานเกิน 6 เดือน ลูกจ้างก็สามารถเบิกกรณีว่างงานได้ ส่วนเงินสมทบที่นายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียน และไม่ได้นำส่งเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคมจะไปติดตามนายจ้างและดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วนการช่วยเหลือด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้ เหตุเพราะนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถือเป็นการเลิกจ้าง โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับคำจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นตามที่ตกลงกับนายจ้าง
นอกจากนี้ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ยังได้มาตั้งโต๊ะรับสมัครงาน โดยมีตำแหน่งงานว่างจากสถานประกอบกิจการต่าง ๆ เช่น เซ็นทรัลรีเทล ไทยเบฟเวอเรจ รวมจำนวนกว่า 1,000 อัตรา เพื่อให้ลูกจ้างได้สมัครงาน และบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นด้วย
ทั้งนี้ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว สามารถเข้ามายื่นคำร้อง คร.7 และยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ ที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คลิกที่นี่
ติดตามช่องทาง คมชัดลึก