สภาองค์กรผู้บริโภค จี้ "คลัง" - "พาณิชย์" เอาจริงแก้ปัญหา "ราคาน้ำมัน"
สภาองค์กรผู้บริโภค เสนอแนวทางแก้ปัญหา "ราคาน้ำมัน" 4 ข้อ มั่นใจ กระทรวง "พาณิชย์" และกระทรวงการ "คลัง" ร่วมมือกันแก้ได้
ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุว่า จากการติดตามตรวจสอบโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศพบว่า แม้รัฐบาลจะประกาศลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท แต่กลับไม่ได้ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศลดลง เนื่องจากโรงกลั่นมีการปรับขึ้น ‘ค่าการกลั่นน้ำมันรวม’ อย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา โดยขยับจาก 1.58 บาทต่อลิตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 5.82 บาท ต่อลิตรในเดือนพฤษภาคม 2565 ทั้งที่ค่าการกลั่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 – 2565) อยู่ที่ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร หรือเกินมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จึงขอเสนอส่งถึงรัฐบาลให้เร่งออกมาตรการควบคุมค่าการกลั่น ควบคุมค่าการตลาดให้เป็นธรรม ทบทวนวิธีการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศ และเก็บภาษี “ลาภลอย (windfall tax)” จากกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
“ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในขณะนี้คือ ค่าการกลั่นรวม เนื่องจากรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงประมาณ 5 บาทต่อลิตร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง แต่โรงกลั่นกลับฉวยโอกาสปรับเพิ่มค่าการกลั่นถึง 4 บาทต่อลิตร กลายเป็นว่า รัฐบาลมีรายได้จากภาษีลดลง แต่โรงกลั่นกลับได้เงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชาชนแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”
สำหรับข้อเสนอแนะในประเด็นการกำกับดูแลราคาน้ำมันสำเร็จรูป ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอต่อรัฐบาลประกอบด้วย
1) ขอให้กระทรวงพลังงานเร่งกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมค่าการกลั่นน้ำมันให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
2) ขอให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมค่าการตลาดให้เป็นธรรม
3) ขอให้กระทรวงพลังงานทบทวนวิธีการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศ จากการอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เพราะน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด เป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทย
4) ขอให้กระทรวงการคลังเก็บภาษี “ลาภลอย (windfall tax)” จากกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไม่ให้ความร่วมมือ ขอให้รัฐบาลพิจารณา อาศัยอำนาจแห่ง พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เพื่อประกาศการควบคุมราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น และราคาขายปลีก พร้อมทั้งห้ามนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ในประเทศส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ