ฉี่คือปุ๋ยชั้นดี ผลทดลองใช้ปลูกข้าวฟ่างที่ไนเจอร์ เพิ่มผลผลิต 30%
นักวิจัยทดลองให้เกษตรกรในไนเจอร์ ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ อุดมด้วยแร่ธาตุและต้นทุนต่ำ อย่างฉี่มนุษย์ ปลูกข้าวฟ่าง ได้ผลผลิตเพิ่ม 30%
รับรู้กันมานานหลายแล้วว่า ฉี่ของคนเรานั้น คือปุ๋ยชั้นดีสำหรับการปลูกพืชผล เพราะมีทั้งฟอสฟอรัส ไนโตรเจนและโปแตสเซียม แร่ธาตุเดียวกับปุ๋ยที่ทำขายกันทั่วไป แต่ด้วยมองว่าคือของเสีย และกลิ่นไม่พึงประสงค์ การใช้ปลูกพืชผลจึงยังจำกัด ชาวสวนที่รู้ถึงคุณประโยชน์ นำมาใช้ปลูกพืชอาหารเลี้ยงครอบครัวอยู่ทั่วโลก แต่เป็นคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำปุ๋ยธรรมชาติ หาได้ง่ายและต้นทุนต่ำอย่างฉี่คน มาใช้เพิ่มผลผลิตแบบแปลงใหญ่อย่างการปลูกเพื่อขาย นักวิจัยแนะนำให้เกษตรกรหญิงกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ห่างไกลของไนเจอร์ ที่ต้องดิ้นรนหาปุ๋ยมาใช้เพิ่มผลผลิตข้าวฟ่างไข่มุก ธัญพืชหลักในภูมิภาค ทำการทดลอง
ก้าวแรกของการทดลอง คือการเปลี่ยนชื่อเสียก่อน เลี่ยงคำว่าฉี่ ไปลงตัวที่คำว่า โอกา (Oga แปลว่า เจ้านาย ในภาษาถิ่น Igbo) จากนั้น แบ่งเกษตรกรออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งปลูกวิธีการเดิม กลุ่มที่สองซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร 27 คนใช้โอกา บำรุงต้น โอกานี้นำมาจากเกษตรกรเอง แต่พวกเธอผ่านการอบรมวิธีการฆ่าเชื้อ เก็บและเจือจางจากทีมวิจัยมาแล้ว ในปีแรก ๆ เกษตรใช้โอกาผสมกับมูลสัตว์หรือขยะออร์แกนิก เมื่อได้ผลดี ก็มีความคุ้นเคยมากพอที่จะใช้ โอกา อย่างเดียว
ข้อมูลที่ได้จากการทดลองช่วงปี 2557 – 2559 พบว่า นาข้าวฟ่างที่ใช้โอกาเป็นปุ๋ย ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับการทำนาแบบเดิม นักวิจัยระบุว่าเป็นความแตกต่างที่มากพอทำให้เกษตรกรคนอื่น ๆ ในภูมิภาคเริ่มนำวิธีเดียวกันไปทดลองใช้ สองปีหลังการทดลอง เวลานี้ มีเกษตรกรหญิงมากกว่าพันคนต่างก็ใช้โอกา ทำปุ๋ยแล้ว
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการเกษตรในไนเจอร์ บริหารจัดการโดยผู้หญิงถึง 52%
ข้อเสียอย่างเดียวของการใช้ปุ๋ยชนิดใหม่ ก็คือ กลิ่น เกษตรกรรายหนึ่งในคลิปวิดีโอ พูดว่า “ปัญหาเดียว คือกลิ่นไม่ดีเลย ฉันต้องปิดจมูกอยู่ตลอดเวลาใช้ฉี่เป็นปุ๋ย แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่”
(คลิปวิธีเตรียมฉี่สำหรับทำปุ๋ย)
ไนเจอร์ อยู่ในแอฟริกาตะวันตก มีปัญหาภัยแล้งรุนแรงเพราะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้พืชผลแห้งตาย เกิดภาวะอดอยาก ปัญหานี้รุนแรงมากจนในปี 2557 เกษตรกรหลายรายไม่มีทางเลือก หันไปใช้พึ่งยาฆ่าแมลงในตลาดมืด ก่อนที่วิทยาศาสตร์หยิบยื่นทางเลือกปลอดภัยและราคาถูก
ฉี่ โดยทั่วไป ไม่ใช่พาหะนำโรค จึงไม่ต้องผ่านกรรมวิธีซับซ้อนสำหรับใช้ในการเกษตร องค์การอนามัยโลกแนะนำให้วางทิ้งไว้ ก็ถือเป็นการพาสเจอร์ไรส์ในระดับหนึ่ง
ผลการทดลองนี้นำโดย Hannatou Moussa นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเกษตรแห่งชาติของไนเจอร์ ร่วมกับนักวิจัยจากสหราชอาณาจักรและเยอรมนี ผลศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Agronomy for Sustainable Development