"บิ๊กป้อม" เร่งขับเคลื่อน 17 โครงการสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน
"บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับ สทนช. บูรณาการขับเคลื่อน 17 โครงการสำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก หวังสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน
27 มิ.ย.2565 เวลา 09.00 น. ที่ ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ ผอ.กอนช. และคณะ ลงพื้นที่เร่งรัดติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจังหวัดจันทบุรี พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปแผนพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดจันทบุรีและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปข้อมูลภาพรวมของจังหวัด ก่อนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (คลองภักดีรำไพ) และโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด ณ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว และพบปะประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้จังหวัดจันทบุรีมีแผนงานโครงการที่จะดำเนินการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ทั้งระยะสั้นระยะกลาง ระยะยาว ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองจันทบุรี จังหวัดจึงได้มีแผนพัฒนาคลองน้ำใสเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำฝั่งตะวันตกของเมืองจันทบุรี ดำเนินโครงการพัฒนา ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาคลองน้ำใส โดยจังหวัด ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสาพระราชทาน 904 ร่วมกันดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
2. การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำคลองน้ำใส เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยเร่งด่วนในพื้นที่ฝั่งตะวันตกอำเภอเมืองจันทบุรี ช่วงระหว่างสะพาน สปก. จนถึง สะพานบางกะจะ ทั้งที่เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น เช่น โพงพาง และเกิดจากธรรมชาติ เช่น ตะกอนดินที่เกิดจากรากของตันลำพู โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชนของกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 295,000 บาท ดำเนินการโดยสำนักงาน ปภ.จังหวัดจันทบุรี
3. การขุดลอกร่องน้ำ เพื่อให้ผู้ใช้ร่องน้ำได้นำเรือเข้า ออก ได้อย่างสะดวกและปลอดภัยตลอดเวลา ปริมาณขุดลอก 30,000 ลบ.ม. วงเงิน 1,659,000 บาท ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 5 สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ กรมเจ้าท่า
โครงการระยะกลาง
1. การปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม กำจัดสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวและป้องกันดินสไลด์
2.จัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย และการจัดการขยะมูลฝอย บริเวณชุมชนริมคลองทั้ง 2 ฝั่งคลอง
3. ติดตั้งบ่อตักไขมันของชุมชน โดยทุก อปท. ที่อยู่ริมคลองน้ำใส ได้ออกเทศบัญญัติ ข้อบัญญัติและได้จัดทำโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ต่อครัวเรือนบริเวณริมคลองน้ำใส รวมทั้งติดตั้งบ่อดักไขมันอย่างง่าย
และโครงการ ระยะยาว
1. โครงการชลประทานจันทบุรี มีแผนดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีฝั่งตะวันตก โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองน้ำใส อาคารบังคับน้ำ และแก้มลิง ในพื้นที่ ต.บางกะจะ เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ วงเงิน 500 ล้านบาท
2. สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด มีแผนดำเนินการดำเนินโครงการศึกษาออกแบบการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งชุมชนคลองน้ำใส (สะพานถนนตากสิน - ถนนซอยหมู่บ้านสวย)
นอกจากนี้จังหวัดจันทบุรีได้เตรียมการการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการปลูกพืช/ผลไม้ หลายโครงการ อาทิ การส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่สวน , การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำฝ่ายกั้นน้ำขนาดเล็ก ตามลำห้วยลำคลอง ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่การกักเก็บน้ำ , การส่งเสริมให้โครงการชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแก้มลิงในพื้นที่ห้วย หนอง คลอง บึง ต่าง ๆ
ติดตามกระแสโซเชียลเพิ่มเติม คมชัดลึก
รวมถึงการขุดลอกคูคลอง ขุดลอกหน้าฝ่าย พร้อมทั้งซ่อมแชมประตูระบายน้ำ และฝ่ายต่าง ๆ ที่ชำรุด ,การเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำ ไปยังพื้นที่นอกเขตชลประทานให้มากขึ้น , การติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ให้สามารถรองรับความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรให้ได้เพียงพอ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองขลุง อ่างเก็บน้ำคลองตาพลายอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ ระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นต้น
จากนั้น "บิ๊กป้อม" ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. นำคณะลงพื้นที่ตรวจราชการเยี่ยมชมโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี คลองภักดีรำไพ รับทราบผลสำเร็จ ประโยชน์ของโครงการ และพบประชาชนในพื้นที่ มีชาวบ้านมารอรับ มอบดอกไม้ให้กำลังใจ และมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งฟ้าผ่าร้องขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินทำกันในพื้นที่ทุ่งฟ้าผ่า
พลเอก ประวิตร กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามรับทราบสถานการณ์น้ำและแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารและเกษตรกรรมที่สำคัญของไทย โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญหลายโครงการ เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำในพื้นที่และรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นอย่างบูรณาการของส่วนราชการ และชุมชนต่างๆ ในลุ่มน้ำคลองวังโตนดที่ได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนา ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนทั้ง 4 แห่ง ขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 1 แห่ง คือ อ่างฯคลองประแกด และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้อีก 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำลองพะวาใหญ่ และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว
ส่วนอีก 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ขณะนี้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน (EHIA) แล้ว อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ โดยได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการให้ความเห็นชอบการขอใช้พื้นที่ พร้อมทั้งให้กรมชลประทานดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในทุกๆ ด้าน คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2567 โดยมอบหมายให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้ตามแผน และให้ติดตามความก้าวหน้ารายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)
ทั้งนี้ หากการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดแล้วเสร็จทั้งหมด จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 307.5 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ถึง 249,700 ไร่ และยังมีปริมาณน้ำส่วนเกินผันน้ำไปเติมให้กับอ่างฯประแสร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับ EEC ในช่วงฤดูฝนได้อีกปีละประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม ขณะเดียวกัน ยังเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญๆ ในจังหวัดจันทบุรี เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโป่งน้ำร้อน โครงการอ่างเก็บน้ำคลองตาพลาย โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเครือหวาย และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว เป็นต้น อีกด้วย
ณฐพล ศิริวงษ์ ผู้สื่อข่าวจันทบุรี
ติดตามข่าวอื่นได้ที่ คมชัดลึก