ข่าว

"กทม." จ่อเรียกค่าเสียหายเหตุไฟไหม้ ขณะ ชัชชาติ เตรียมหารือสายสื่อสารลงดิน

"กทม." จ่อเรียกค่าเสียหายเหตุไฟไหม้ ขณะ ชัชชาติ เตรียมหารือสายสื่อสารลงดิน

28 มิ.ย. 2565

"กทม." จ่อเรียกค่าเสียหายทรัพย์สินราชการ จากเหตุไฟไหม้สำเพ็ง พร้อมขอ กฟน.ดูแลเยียวยาผู้เสียหาย ขณะที่ "ชัชชาติ" เตรียมเข้าพบ รมว.ดีอีเอส หารือสายสื่อสารลงดิน 4 ก.ค. ชี้ งบ 20,000 ล้าน สูงเกินไป

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บอกภายหลังการหารือร่วมกับ ตัวแทนร่วม การประปานครหลวง / การไฟฟ้านครหลวง และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อ หลังจาก "กทม." นำระบบ ทราฟฟี่ฟองดูว์ มาใช้งาน และเป็นระบบใช้ในการรับแจ้งเหตุ แต่เมื่อรับแจ้งเหตุแล้วก็เกี่ยวข้องกับหลายๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะการไฟฟ้าฯ หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดสำเพ็งโดยมีผลมาจากหม้อแปลงไฟฟ้า

 

โดยระบุว่า ส่วนของ การประปานครหลวง รับปากว่า จะไปหาจุดติดตั้งน้ำดื่มสะอาดให้ประชาชน ซึ่งจากเดิมมีกว่า 400 จุด ทั้งนี้จะต้องไม่ให้กีดขวางทางเดิน มีความสะดวก สะอาด โดยเชื่อว่านโยบายนี้ จะช่วยให้ประชาชนประหยัดเงินในการซื้อน้ำดื่มลงได้ และลดปริมาณขยะจากพลาสติก 

 

ส่วน การไฟฟ้านครหลวง หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดสำเพ็ง ชัชชาติ ระบุว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย เกี่ยวกับหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้กับอาคารบ้านเรือน ซึ่งจากรายงานขณะนี้ในกรุงเทพมหานครชั้นใน มีหม้อแปลงไฟฟ้าที่จ่ายไฟทั้งหมด 400 ลูก และจากเดิม การบำรุงรักษาการไฟฟ้านครหลวง จะดำเนินการทุก 1 ปี แต่จากนี้จะปรับรูปแบบเพิ่มความถี่ในการบำรุงรักษาเป็น 6 เดือนต่อ 1 ครั้ง

 

ขณะเดียวกันจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ มีบทเรียนหลายอย่าง โดยกรุงเทพมหานครจะไปดูการจัดระบบสายสื่อสาร ที่รกรุงรังและอยู่ติดกับหม้อแปลงไฟฟ้า เบื้องต้นจะเร่งประสานเจ้าของสายสื่อสาร โดยเฉพาะ กสทช. เข้ามาตัดสายตายที่ไม่ได้ใช้งานออกไป เพื่อความเป็นระเบียบและความปลอดภัย โดยจะนำร่องในพื้นที่ย่านเยาวราชก่อน ซึ่งถือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสหลังเกิดเพลิงไหม้

ชัชชาติ

ติดตามกระแสโซเชี่ยลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/komchadluek/

 

พร้อมย้ำเรื่องการดูแลเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้สำเพ็งว่า แม้ผลการตรวจสอบสาเหตุจะมาจากหม้อแปลงไฟฟ้าหรือไม่ แต่หน่วยงานก็ต้องรับผิดชอบ พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้ไปตรวจสอบทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครที่ได้รับความเสียหาย หากพบว่ามีความเสียหายจุดใด การไฟฟ้านครหลวงก็ต้องรับผิดชอบ ไม่เพียงรับผิดชอบความเสียหายของประชาชนเท่านั้น

 

ส่วนการนำสายสื่อสารลงดินต้องใช้เวลา เพราะจะต้องใช้งบประมาณ ซึ่งเรื่องเร่งด่วนก่อนที่จะเอาสายไฟลงดินทำสายตายให้เหลือน้อย เมื่อสายตายหายไป ก็จะทำให้ความเสี่ยงหายไปได้ด้วย

 

โดย นายชัชชาติ ยังบอกอีกว่า ในวันที่ 4 มิ.ย. ได้นัดเข้าหารือกับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือ เรื่องจะนำสายสื่อสารลงดิน ซึ่งกรณีที่นายชัยวุฒิ ระบุว่า ต้องใช้งบประมาณถึง 20,000 ล้านบาทนั้น มองว่า เป็นงบประมาณที่สูงเกินไป ซึ่งเป็นตัวเลขงบประเมาณเดิมที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม เคยทำไว้

 

ทั้งนี้ถ้าหาก กรุงเทพมหานครจะทำเองคงใช้งบประมาณไม่ถึง ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาศึกษารายละเอียดอีกครั้ง และเรื่องดังกล่าวอยู่ที่บริษัทกรุงเทพธนาคม โดยมอบหมายให้ นายธงทอง จันทรางศุ ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไปดำเนินการตรวจสอบรายละเอียด แต่ทั้งนี้หาก  DES จะสนับสนุนงบประมาณในการนำสายสื่อสารลงดิน กทม.ก็ยินดี

 

ขณะที่ นายเดชา วิริยะเจริญกิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง กล่าวถึง การตรวจสอบหม้อแปลงไฟฟ้า ที่ตลาดสำเพ็ง จะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบสักระยะ จึงจะทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ยังยืนยันการชดเชยค่าเสียหาย เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนข้อกฎหมาย

ไฟไหม้สำเพ็ง

 

ติดตามอ่านข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.komchadluek.net