ข่าว

"ค่าโดยสาร" รถไฟฟ้า BTS ลุ้นเหลือ 44 บาท ชัชชาติ รับข้อเสนอสภาองค์กรผู้บริโภค

"ค่าโดยสาร" รถไฟฟ้า BTS ลุ้นเหลือ 44 บาท ชัชชาติ รับข้อเสนอสภาองค์กรผู้บริโภค

29 มิ.ย. 2565

"ชัชชาติ" รับข้อเสนอ สภาองค์กรของผู้บริโภค ลุ้นอีก "ค่าโดยสาร" รถไฟฟ้า BTS เหลือ 44 บาทตลอดสาย ขอตั๋วรายเดือน ตั๋วนักเรียน

(29 มิ.ย.2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางเข้าหารือร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ถึงประเด็นราคาค่า "รถไฟฟ้า BTS" โดยใช้เวลาการหารือนานกว่า 30 นาที จากนั้นได้รับหนังสือข้อเสนอแนะจากสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยนางสาวสารี ยอมรับว่า การพบผู้ว่าฯกทม.วันนี้ เพื่อต้องการให้ กทม.รับฟังปัญหาของผู้บริโภค ที่คนกรุงเทพมหานคร มีความยากลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้า โดยเฉพาะปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสารแพง โดยได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ คือ 

 

 

 

  1. ขอให้ยกเลิกราคา 59 บาท เพราจะทำให้เกิดเพดานราคาสูง ทำให้คนไม่สามารถใช้ได้ทุกวัน ซึ่งถ้าให้เป็นราคาตลอดสายคือ อาจจะทำให้ส่งผลต่อการเข้าถึงการใช้บริการของผู้บริโภค
  2. ขอให้กรุงเทพมหานครเก็บค่าโดยสาร 44 บาทตลอดสาย ทั้ง 2 ฝั่งของส่วนต่อขยาย เพื่อดูแลบริษัทรับสัมปทาน คือ BTS ด้วย และเพื่อเป็นต้นแบบให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นต่อไป เพราะไม่มีประเทศไหนที่คิดค่าบริการประชาชนเท่ากับเงินที่ลงทุนไป เพื่อให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคที่จะสามารถใช้บริการได้ แต่รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนค่าบริการบางส่วน 
  3. ขอให้มีการแก้ไขสัญญาการเดินรถที่ต่อสัญญาเกินไปถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการทำสัญญาเกิน สัญญาสัมปทาน เพราะสัมปทานจะหมดในปี 2572 จึงขอให้หาทางแก้ปัญหานี้ หากยกเลิกการเดินรถที่เกินสัญญาสัมปทานได้ เชื่อว่าจะทำให้ผู้บริโภคมีราคาที่เป็นมิตรมากขึ้น
  4. สนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร ไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และ ขอให้ใช้วิธีการประมูลแข่งขันการทำสัญญากับเอกชน 
  5. เสนอว่าหลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ราคาค่าบริการควรอยู่ที่ 25 บาท และ ขอให้มีการมีตั๋วรายเดือน ตั๋วนักเรียน พร้อมเปิดเผยสัญญาสัมปทานใหม่ 
  6. พร้อมเสนอว่า หลังหมดสัญญาสัมปทานให้ใช้ราคา 25 บาท ซึ่งเชื่อว่าราคานี้ทำได้จริง 

\"ค่าโดยสาร\" รถไฟฟ้า BTS ลุ้นเหลือ 44 บาท ชัชชาติ รับข้อเสนอสภาองค์กรผู้บริโภค

ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนั้น เรื่องเงิน 59 บาท กับ 44 บาท มีส่วนต่อขยายที่ไม่ได้เก็บเงิน จะลองทำตัวเลขกรอบราคา 44 บาท ว่าต้องชดเชยเงินเท่าไร และถ้า 59 บาท ต้องชดเชยเงินเท่าไร แล้วจะนำมาให้สภาผู้บริโภคฯพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการกำหนดราคา 59 บาท เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ตามข้อเสนอแนะของทีดีอาร์ไอ ซึ่งปัจจุบันการให้บริการรถไฟฟ้าในพื้นที่ส่วนที่เป็นไข่แดงเดิม ก็คิดราคา 44 บาทอยู่แล้ว หากคิดราคาตลอดสาย รวมส่วนต่อขยาย ในราคา 44 บาทเท่าเดิม การวิ่งส่วนต่อขยายส่วนที่ 1-2 เท่ากับ กทม.ไม่ได้เงินเลย ดังนั้นต้องไปดูความเป็นไปได้ ว่าจะต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไหร่ และต้องไปเปรียบเทียบกับค่าโดยสารสายอื่นด้วย

    

 

ส่วนการเปิดเผยสัญญาสัมปทานนั้น ในข้อสัญญามีข้อตกลงว่า ห้ามเปิดเผย ดังนั้นต้องดูข้อกฎหมายว่าจะเปิดได้หรือไม่อีกที ซึ่งวันนี้เป็นการรับข้อเสนอ ส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะต้องดูให้สมดุล มีทั้งคนที่ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส และไม่ใช้บีทีเอสซึ่งจะต้องดำเนินการส่วนนี้ด้วย

     

ทั้งนี้ สัญญาว่าจ้างเดินรถที่เซ็นไว้แล้ว จากปี 2572 ไปสิ้นสุดปี 2585 คือปัญหาหลัก ทำให้ขยับตัวในการตัดสินใจของกรุงเทพมหานครยาก เพราะมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว และค่าใช้จ่ายกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ต้องไปดูว่าทำอย่างไรให้สัญญาการจ้างเดินรถไม่ต้องถึงปี 2585 และหากได้กลับมาหมดสัญญาสัมปทานปี 2572 ก็จะทำให้เกิดการประมูลใหม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้น