เปิดเหตุผล ทำไม "ฝีดาษลิง" ยังไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน แต่ยังเป็นภัยคุกคาม
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดสาเหตุที่ "WHO" แถลงให้ไวรัส "ฝีดาษลิง" เป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล แต่ไม่ถึงขั้นที่จะต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ว่า องค์การอนามัยโลก "WHO" แถลงการณ์ระบาดของไวรัส "ฝีดาษลิง" เป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล แต่ไม่ถึงขั้นที่จะต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยมีสาเหตุดังนี้
ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม
พบไวรัส "ฝีดาษลิง" ที่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ซึ่งมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 3,500 คน ในกว่า 50 ประเทศ บ่งชี้ว่ามีต้นตระกูลไวรัสมาจากถิ่นเดียวกันหรือจากผู้ติดเชื้อรายเดียวกันเมื่อต้นปี 2565 ไม่ได้เป็นการระบาดมาจากหลายพื้นที่พร้อมกัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการควบคุมจะกระทำได้ไม่ยาก พร้อมเน้นย้ำว่า WHO มีทั้งวัคซีนและยาพอเพียงสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง
ไวรัสฝีดาษลิง ที่เริ่มมีการระบาดใหญ่ในยุโรปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาระหว่างคนสู่คน จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (จำนวน 300,000 เบส) มาเปรียบเทียบกันด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงพบว่ามีต้นตระกูลร่วมมาจากพื้นที่เดียวกันและน่าจะมาจากผู้ติดเชื้อรายเดียวกัน
สายพันธุ์และวัคซีน
ไวรัสฝีดาษลิง ที่กำลังระบาดในขณะนี้ จากรหัสพันธุกรรมได้ถูกจัดอยู่ในสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า "hMPXV-1A" ในส่วนของ "สายพันธุ์ย่อย B.1" ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับกลุ่ม ไวรัสฝีดาษลิง สายพันธุ์ย่อย "A.1" ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2018-2019 โดยสายพันธุ์ย่อย A.1 มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับไวรัสฝีดาษลิง "hMPXV-1A" ที่ระบาดเป็นโรคประจำถิ่นของไนจีเรีย ในเขตแอฟริกาตะวันตกซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง ผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตต่ำร้อยละ 1 อีกทั้งวัคซีนที่เรามีใช้ในปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อจาก ไวรัสฝีดาษลิง สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกได้ดีแม้จะฉีดหลังจากได้รับสัมผัสเชื้อแล้วก็ตาม
ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
สายพันธุ์ย่อย "B.1" vs "A.1"
สายพันธุ์ย่อย "B.1" มีสายวิวัฒนาการที่แยกตัวออกจากสายพันธุ์ย่อย A.1 โดยมีการวิวัฒนาการในรูปแบบจำเพาะ คือ TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA อันเกิดจากเอนไซม์มนุษย์ที่สร้างจากยีน "APOBEC3" ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันไวรัสเข้ามารุกรานเซลล์โดยเอนไซม์ดังกล่าวจะกระตุ้นให้จีโนมไวรัสมีกลายพันธุ์ในลักษณะจำเฉพาะ (TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA) จนทำให้จีโนมเสียหายไม่อาจเพิ่มจำนวนไวรัสได้ ทำให้ ไวรัสฝีดาษลิง
ส่วนใหญ่ที่พยายามก้าวข้ามจากสัตว์มาติดยังมนุษย์ถูกทำลายลง กลุ่มที่เหลือมีการกลายพันธุ์หลบเลี่ยงการทำลายของโปรตีนดังกล่าว ทำให้ไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดอยู่ในขณะนี้มีการกลายพันธุในลักษณะเฉพาะตัว และอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึงกว่า 50 ตำแหน่งทิ้งไว้เสมือนแผลเป็นให้สังเกตเห็นได้โดยง่ายจากการถอดรหัสพันธุกรรม แตกต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมในปี 2017
สตรีและเด็ก
WHO กล่าวว่า ณ จุดนี้การระบาดยังจำกัดวงอยู่ในประเทศแถบยุโรปเป็นส่วนใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน LGBTQ+ ของผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย แต่หลายประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีไวรัสฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นจะพบเห็นเด็กและสตรีติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตในชุมชนเหล่านั้น ทำให้ทั้งโลกต้องร่วมด้วยช่วยกันให้การสนับสนุนในการดูแล ป้องกัน รักษา รวมทั้งงานวิจัยอย่างเข้มข้นแก่แอฟริกาจากนี้ไป เพราะเห็นได้จากไวรัสโคโรนา 2019 และไวรัส "ฝีดาษลิง" มิได้เป็นปัญหาเฉพาะถิ่นแต่เป็นปัญหาของคนทั้งโลก
คมชัดลึก ยังมีเนื้อหาสาระอื่นๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่
Website - www.komchadluek.net
Twitter - https://twitter.com/Kom_chad_luek
Instagram - https://www.instagram.com/komchadluek_online/