ทร.แจง อากาศยานไร้คนขับ หรือ "UAV4000ล้าน" เพื่อความมั่นคง
โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงผลการคัดเลือกแบบอากาศยานไร้คนขับ หรือ "UAV4000ล้าน" ในโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ ประจำฐานบินชายฝั่งกองทัพเรือ
พลเรือโทปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงผลการคัดเลือกแบบอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV ประจำฐานบินชายฝั่ง กองทัพเรือ โดยวิธีคัดเลือก ซึ่งบริษัทที่รับการคัดเลือก ได้แก่ บริษัท Elbit Systems Ltd. รัฐอิสราเอล เสนอราคา เป็นเงินทั้งสิ้น 120 ล้าน ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือ 4,004,652,000.00 บาท (สี่พันสี่ล้านหกแสนห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน) โดยเป็นราคายกเว้นค่าอากรทางศุลกากร แต่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรอื่นๆ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวงไว้แล้ว จนกระทั่งส่งมอบงาน ณ กองการบินทหารเรือ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง หรือพื้นที่ที่กองทัพเรือได้กำหนดไว้ตามประกาศ
สำหรับขั้นตอนต่อไปอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างสัญญา โดยคณะกรรมการร่างสัญญาเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากผู้บัญชาการทหารเรือ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นการลงนามระหว่างคู่สัญญา คือ กองทัพเรือ บริษัท Elbit Systems Ltd. และคณะกรรมการความร่วมมือการป้องกันการทุจริตหรือ ค.ป.ท. ลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย
โฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่า กองทัพเรือ ยังคงเดินหน้าพัฒนากองทัพเรือให้มีความทันสมัย เข็มแข็ง สามารถปฎิบัติภารกิจในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นคง ปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศชาติ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ
UAV = Unmanned Aerial Vehicle หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เครื่องบินไร้คนขับ , อากาศยานไร้คนขับ จะเน้นไปทางภารกิจด้านกองทัพ แต่ตอนนี้ครอบคลุมไปถึงสื่อมวลชน และกลุ่มผู้จัดงาน ด้วย แตกต่างจากขีปนาวุธ โดยขีปนาวุธจะใช้เป็นอาวุธโจมตีตามเป้าหมายอย่างเดียวแล้วจบ แต่ UAV อากาศยานบังคับนี้ สามารถนำมาใช้ใหม่ได้
ในต่างประเทศนั้นยุคแรกจะเป็นเครื่องบินแบบไร้คนขับ บังคับโดยการควบคุมจากระยะไกล มีขนาดใหญ่ ใช้ในกองทัพ ที่เรียกว่าเครื่องบินสอดแนม แต่ปัจจุบันนี้มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่ออกแบบในลักษณะเครื่องบินวิทยุบังคับ
ประโยชน์และรูปแบบการใช้งาน ของ UAV ประยุกต์ได้หลากหลาย เช่นตรวจจับองค์ประกอบในอากาศ , ใช้ในการขนส่ง , ใช้ในการโจมตีทางอากาศ , ใช้ในการถ่ายภาพมุมสูง ดูสภาพจราจร ช่วยเหลือภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งในต่างประเทศก็ใช้กันอย่างแพร่หลายทีเดียว