กรุงเทพโพล เผย ประชาชนไม่มีเงินเที่ยว ห่วงน้ำมันแพง
กรุงเทพโพล เปิดเผย ผลสำรวจประชาชน ชี้ผ่อนปรนมาตรการโควิด เป็นผลดี ระบุมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นเรื่องดี แต่กังวลปัญหาน้ำมันแพง คนไม่มีเงินออกไปเที่ยว
กรุงเทพโพล ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “การท่องเที่ยวเมืองไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น” ซึ่งเป็นผลการสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นโดยการเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,177 คน ด้วยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพล ดำเนินการสำรวจในช่วงวันที่ 27 – 30 มิถุนายน 2565
สำหรับคำถามที่ว่า คิดอย่างไรกับมติผ่อนคลายมาตรการ โควิด-19 เช่น การสวมหน้ากากอนามัย, เปิดสถานบันเทิงถึงตี 2, เปิดประเทศเต็มรูปแบบ ก่อนจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 71.8% คิดว่าจะเกิดผลดี โดยในจำนวนนี้ 49.9% เห็นว่าน่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น รองลงมา 48.5% เห็นว่าน่าจะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และ 41.6% เห็นว่าจะทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตแบบปกติ ขณะที่ประชาชน 28.2% คิดว่าจะเกิดผลเสีย เพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น
เมื่อถามว่า มติผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ก่อนจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น จะทำให้คนอยากออกมาท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ 72.0% เห็นว่าจะทำให้อยากออกมาท่องเที่ยวค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ 28.0% เห็นว่าค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
ขณะที่เมื่อถามต่อในประเด็นที่ว่า จะใส่หน้ากากอนามัยตลอดทุกที่ที่ไปหรือไม่ หลังมีมติผ่อนคลายการสวมหน้ากากอนามัยตามความสมัครใจ ส่วนใหญ่ 92.8% คิดว่าจะปฏิบัติตัวเหมือนเดิมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะที่มีเพียง 7.2% ที่คิดว่าจะไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยแล้วเพราะการแพร่ระบาดลดลง
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง จะช่วยกระตุ้นให้คนออกมาท่องเที่ยวได้มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ 64.4% เห็นว่าจะช่วยได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ 35.6% เห็นว่าจะช่วยได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
สุดท้ายเมื่อถามถึงปัจจัยที่คิดว่าจะทำให้คนไม่ค่อยอยากออกมาท่องเที่ยวพบว่า ส่วนใหญ่ 76.4% เห็นว่าเป็นเรื่องปัญหาราคาน้ำมันแพง รองลงมาคือ ไม่มีเงินที่จะไปท่องเที่ยว คิดเป็น 75.3% และปัญหาสินค้าราคาแพง คิดเป็น 63.0%