ข่าว

"จตช." สั่งสอบคณะกรรมการฯ ปม ส.ต.ท.หลอกเงินสาว หลังฟันผิดวินัยไม่ร้ายแรง

"จตช." สั่งสอบคณะกรรมการฯ ปม ส.ต.ท.หลอกเงินสาว หลังฟันผิดวินัยไม่ร้ายแรง

03 ก.ค. 2565

พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ "จเรตำรวจแห่งชาติ" สั่งสอบคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง สน.หลักสอง หลังมีความเห็นผิดวินัยไม่ร้ายแรง ปม ส.ต.ท.หลอกเงินสาว ย้ำเผื่อความโปร่งใส และให้ความเป็นธรรมผู้เสียหาย

จากกรณี น.ส.เอ (นามสมมุติ) อายุ 44 ปี แม่ค้าย่านหลักสอง ร้องขอความเป็นธรรม ถูกตำรวจจราจร ยศ ส.ต.ท.ที่มาล็อกล้อตีสนิทจนคบหากัน สุดท้ายถูกหลอกยืมเงิน โอนให้กว่า 300 ครั้ง เป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท หลังจากที่ทวงถามกลับไล่ให้ไปฟ้อง ต่อมา น.ส.เอ ได้นำหลักฐานเข้าไปร้องกับหน่วยงานต้นสังกัดหลายหน่วยงาน แฉพฤติกรรม ส.ต.ท.นายดังกล่าว แต่กลับได้รับการตอบกลับว่าเป็น"โทษวินัยไม่ร้ายแรง" จนทำให้ น.ส.เอ รู้สึกว่าตนเองนั้น"ไม่ได้รับความเป็นธรรม" 

 

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2565 พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ได้รับทราบกรณีดังกล่าว และได้สั่งการให้ พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรธนะ หัวหน้าจเรตำรวจ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสำนักงานจเรตำรวจ เพื่อลงไปตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของ สน.หลักสอง ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการฯ ของ สน.หลักสอง ได้มีการสรุปผลและส่งหนังสือแจ้ง น.ส.เอ ผู้ร้อง เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2565 รับทราบว่า ส.ต.ท.คนดังกล่าว ทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา โดยมีความเห็นว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และลงโทษเพียงว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น ซึ่งการพิจารณาดังกล่าว สร้างความสงสัยต่อผู้ร้อง และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ถึงการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ สน.หลักสอง

พล.ต อ.วิสนุ เปิดเผยว่า เรื่องนี้ได้รับรายงานเบื้องต้น จากทาง บช.น.แล้ว โดยทราบว่า ทาง บช.น.ได้มีหนังสือ สั่งการถึง ผบก.น.9 ซึ่งกำกับดูแล สน.หลักสอง ให้กลับไปทบทวนผลการสืบสวนข้อเท็จจริงของ สน.หลักสอง โดยให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมการสืบสวนข้อเท็จจริงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา

 

แต่อย่างไรก็ดี จเรตำรวจ จะไม่นิ่งเฉย และ จะลงมาตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของ สน.หลักสอง อีกส่วนหนึ่งพร้อมกันด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจในการให้ความเป็นธรรมกับทางฝ่ายผู้เสียหาย และสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม โดย จเรตำรวจ จะตรวจสอบว่า คณะกรรมการสืบสวนฯของ สน.หลักสอง ได้ดำเนินการตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสืบสวน พ.ศ.2556 หรือไม่ 

โดยเฉพาะการตรวจสอบพฤติกรรมการสืบสวนของคณะกรรมการฯ ว่า มีความพยายามในการเข้าถึงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่หรือไม่ และได้มีการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาเสนอความเห็นในเรื่องนี้บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอย่างไร เพื่อไม่ให้กระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสของตำรวจด้วยกัน มีลักษณะเป็น"มวยล้มต้มคนดู" จนขาดมาตรฐาน และขาดความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน 

 

หากพบว่ามีการกระทำผิดหรือบกพร่องอย่างไร ก็จะต้องมีการดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาแก่ผู้เกี่ยวข้องด้วยความเด็ดขาดต่อไป ส่วน ส.ต.ท.คู่กรณี หากจเรตำรวจตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว มีข้อมูลที่ขยายผลพบว่ามีการกระทำผิดจริง ก็จะต้องมีการดำเนินการทางวินัยและอาญา ตามบทลงโทษที่เหมาะสมกับพฤติการณ์ที่กระทำผิดด้วยเช่นกัน