ข่าว

"ครู" ทำอะไรบ้างที่ "โรงเรียน" ถึงที่เวลาต้อง "ลดภาระงานครู" หรือยัง?

"ครู" ทำอะไรบ้างที่ "โรงเรียน" ถึงที่เวลาต้อง "ลดภาระงานครู" หรือยัง?

03 ก.ค. 2565

ภาพจำ "ครู" จบชีวิตตัวเอง สุดสะเทือนใจตรงข้อความในจดหมาย ฉบับสุดท้าย "ภาระงานที่ โรงเรียน มีเยอะ" เป็นอีกปมที่ทำให้ครูเลือกทางเดินชีวิตแบบนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ศธ.จะปรับนโยบาย "ลดภาระงานครู" ในโรงเรียนอย่างจริงจัง

เมื่อเกิดเหตุขึ้น เราควรป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นอีกในอนาคต 

 

แล้วทำไม “ครู” คนหนึ่งเลือกจบชีวิตตัวเองลง ? งานครูมากมายขนาดนั้นเชียวหรือ ? วันนี้ “คมชัดลึกออนไลน์”  อาสาไขคำตอบ

 

มีครูท่านหนึ่ง บอกว่า โรงเรียนกำลังอยู่ในช่วงการประเมิน “โรงเรียนคุณธรรม” ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียน รับนโยบาย มาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และอยากจะเล่าให้ฟังว่า ระบบการศึกษาบ้านเราเป็นอย่างนี้

 

เริ่มต้นจะมีคนคิด โครงการหรือนโยบาย ต่าง ๆ มาให้ "โรงเรียน" ทำ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่อยากทำผลงานก็เข้าร่วมด้วย สุดท้ายภาระงานต่าง ๆ ก็ลงมาที่ “ครู” เคยมีใครสงสัย ไหมว่า ทำไมเราต้องเป็นโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย ไม่เป็นไม่ได้ หรืออย่างไร ยกตัวอย่างเช่น

 

  • โรงเรียนในฝัน
  • โรงเรียนมาตรฐานสากล
  • โรงเรียนวิถีพุทธ
  • โรงเรียนดีศรีตำบล
  • โรงเรียนจัดการศึกษาพิเศษเรียนร่วม
  • โรงเรียนแกนนำ
  • โรงเรียนเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา
  • โรงเรียนสุจริต
  • โรงเรียนต้นแบบ
  • โรงเรียนนำร่องโครงการตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
  • โรงเรียนประชารัฐ

ฯลฯ

ประเทศไทย มีโรงเรียนทุกแบบแต่ไม่เคยมี โรงเรียนที่ “ครู” ได้สอนเต็มเวลา

แต่ละหน่วยงาน ต่างกำหนด นโยบาย คิดโครงการ หรือมีข้อมูลอะไร จะสำรวจ จะขอความร่วมมือล้วนแล้วแต่ลงมาโรงเรียนทั้งหมด สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ก็จะเอางาน “ผู้อำนวยการโรงเรียน” ก็อยากได้งาน เลยส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอด ๆ สุดท้าย ก็ลงมาที่ “ครู” ที่ต้องเป็นผู้ปฎิบัติ

 

ไม่ใช่แค่ “นโยบาย” ต่าง ๆ ที่ “โรงเรียน” จะต้องเข้าร่วม ยังมี โครงการสารพัดประกวด ทั้งด้านวิชาการ ด้านนวัตกรรม  มีการประชัน การประเมินต่าง ๆ มากมายที่ให้โรงเรียนทำเพื่อรับรางวัล เกียรติบัตร หรือโล่ ต่างเป็นที่ต้องการของ “ผอ.โรงเรียน” เพื่อนำไปสู่การประเมินเลื่อนตำแหน่ง หรือความดี ความชอบทำให้ “ครู” ไม่ได้ทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว

 

ที่บอกว่า เป็น “ครู” แล้วสบาย คือ คน 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ไม่ได้เป็นครู และประเภทที่ 2 คือ เป็นครูแต่ไม่สอนหนังสือ

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีงานอื่นๆ อีกมากมาย ในโรงเรียน ที่ "ครู" ต้องรับผิดชอบ เช่น

 

การเงินพัสดุ “ครู” ต้องขับรถไปธนาคารเพื่อเบิกเงินเอง ต้องทำเอกสารประมาณราคา ตรวจรับงานก่อสร้างอาคารเรียน เหล็กกี่เส้นกี่หุนต้องรู้ ไม่รู้ก็ต้องวิ่งหานายช่างมาอ่านแบบ

 

โครงการอาหารกลางวันนักเรียน ต้องทำ “อาหารกลางวัน” ใช้รถส่วนตัว ค่าน้ำมันครูต้องจ่าย ซื้อกับข้าว แช่ในตู้เย็นตัวเอง เตรียม หั่น ปรุง ล้าง 

 

ติดตามกระแสโซเชี่ยลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/komchadluek/

เหนืออื่นใดนโยบายต่างๆ จากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่สั่งเพิ่มเติม แต่ไม่เคยสั่งยกเลิก เช่น "ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้"

 

ถ้าคิดว่า ที่กล่าวมา หมดหน้าที่ “ครู” แล้ว ก็ยังไม่หมด เพราะยังมีงานวันสำคัญอีกมากมายตลอดทั้งปีรวมถึง “ภาระงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย”

 

สิ่งนี้ตรงกับชีวิตครูผู้ลาลับที่บอกว่า “ครูถูกมาใช้งานวันหยุด” ก็แน่นอนการที่จะเตรียมประเมินโรงเรียนต่าง ๆ ก็ต้องใช้แรงงานครูทั้งนั้น

 

ที่กล่าวมาทั้งหมด ทุกอย่าง ทุกโครงการ ทุกนโนยาย ถ้ามันดีจริง ทำไมโรงเรียนทั่วโลก เขาไม่เอาไปทำบ้าง

 

“หากระบบการศึกษาไทยยังเป็นแบบนี้ ต่อไปจะไม่มีคนรุ่นใหม่มาในระบบแล้ว เพราะตอนนี้แม้แต่คนที่อยู่ก็ยังลาออก และเลือกจบชีวิต เราไม่ควรจะสูญเสียใครไปอีก"

 

เมื่อก่อน เราเชื่อว่า การเป็นครูในไทยดีที่สุด แต่เมื่อมีคนมาเปิดโลกแล้วทำให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดเราฝัน เป็นเพียงแค่ภาพลวงตา มีการศึกษาประเทศอื่นที่เคารพและให้เกียรติครูมากกว่า วันที่ตายแล้ว ค่อยมีโฆษณามาเชิดชูเกียรติ

 

ได้โปรดเถอะตอนนี้ยังทัน ช่วย“ปฏิรูปการศึกษา”อย่างแท้จริงได้แล้ว ถึงเวลาหรือยังที่เราจะพูดถึง "ลดภาระงานครู" ที่ไม่เกี่ยวกับการสอนหนังสือเด็กอย่างจริงจังเสียที

 

ได้แต่คิดว่า จะมีอีกกี่คนที่เสียชีวิต หรือลาออก การศึกษาบ้านเรา มันก็ไม่เปลี่ยนแปลง

 

ฤาว่าคนที่รับผิดชอบและผู้ใหญ่ในวงการศึกษาเสวยสุขอยู่ในอำนาจ มักมองไม่เห็นความลำบากของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือคนทำงาน จะพูดว่า “มันยังไม่ถึงเวลา”

 

ติดตามข่าวคมชัดลึกอื่นๆได้ที่ https://www.komchadluek.net/