รู้จัก "สนามกีฬาแห่งชาติ" สร้างบน วังวินด์เซอร์ ของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
เปิดหน้าประวัติศาสตร์ "สนามกีฬาแห่งชาติ" ตั้งชื่อตาม หลวงศุภชลาศัย หนึ่งในคณะราษฎร ปูมเหตุ ท่านชายใหม่ ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์ขอชื่อเปลี่ยนชื่อใหม่ "สนามเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ"
เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่คนพูดถึงกันอีกรอบ เกี่ยวกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ หลังจาก พล.อ. ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านชายใหม่ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขอสัก 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอรัฐบาล ให้เปลี่ยนชื่อสนามกีฬาแห่งชาติ ที่อยู่ด้านข้างห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง จากสนามศุภชลาศัย เป็น สนามสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกรอบ ซึ่งเป็นรอบที่สอง ต่อจากประเด็นสะพานท่าราบ สะพานพิบูลสงคราม เพราะถ้าไล่เรียงกันดู มันก็เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวระหว่างประวัติศาสตร์ราชวงศ์ กับ ประวัติศาสตร์เรื่องราวของคณะราษฎร
ย้อนเวลากับไปยังสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นเวลา 12 ปี หลังจากเกิดวิกฤตการณ์วังหน้า ความขัดแย้งระหว่าง วังหลวง กับ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อวังหน้าองค์สุดท้ายของรัตนโกสินทร์ เสด็จทิวงคต แล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงไม่โปรดตั้งผู้ใด เป็นกรมพระราชวังบวรอีก แต่โปรดให้ใช้ธรรมเนียมแบบสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 โดยตั้งพระเจ้าลูกยาเธอองค์ใหญ่ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ตามแบบอย่างประเทศต่าง ๆ ที่จะสถาปนาพระรัชทายาท เป็น มกุฎราชกุมาร เพื่อสืบสันตติวงศ์
รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จาก รัชกาลที่ 5 ให้สร้างวังที่ประทับอยู่บริเวณ ทุ่งประทุมวัน เรียกว่า วังกลางทุ่ง หรือ วังใหม่ และอีกชื่อว่า วังวินด์เซอร์ เพราะรูปแบบวังนี้ รูปลักษณ์แบบวังวินด์เซอร์ ของประเทศอังกฤษ โดยฝีมือการควบคุมออกแบบของสถาปนิกชาวอังกฤษ
แต่อย่างไรก็ดี วังนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ไม่ได้ทรงเคยประทับ เพราะพระองค์เสด็จทิวงคตในปี 2437 พระชนมายุ 16 พรรษา
จนเมื่อมีการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานวังนี้ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบเป็นสมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเคยใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิทยาเขตประทุมวันก่อนการก่อสร้างอาคารบัญชาการ
ในยุคคณะราษฎร ช่วงปี 2478 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้นดำริที่จะจัดสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น จึงได้พิจารณาเช่าที่ดินบริเวณพระตำหนักหอวัง และได้ทำการรื้อถอนพระตำหนักหลังนี้ รวมถึงอาคารหอพักนิสิตโดยรอบ การก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติแล้วเสร็จในราวปี พ.ศ. 2481 ซึ่งได้ใช้เป็นที่ทำการสอนของโรงเรียนพลศึกษากลางและกรมพลศึกษา
กรีฑาสถานแห่งชาติ หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ ได้ก่อสร้างเสร็จ ในปี 2484 มีลู่วิ่งสังเคราะห์ สำหรับจัดการแข่งขันกรีฑา ใช้ในการแข่งขันกีฬานัดสำคัญ มีหลังคาหนึ่งด้าน พร้อมทั้งอัฒจันทร์โดยรอบ ปัจจุบันมีความจุผู้ชมรวม 35,000 ที่นั่ง มีชื่อเดิมว่า สนามกรีฑาสถาน ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็น สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย ปัจจุบัน นิยมเรียกสั้น ๆ เพียงว่า สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ
หลวงศุภชลาศัย หรือ บุง ศุภชลาศัย เป็นหนึ่งในคณะราษฎร สายทหารเรือ และเป็นทหารเรืออาวุโสสูงสุด ขณะที่เข้าร่วมก่อการมีอายุ 37 ปี และหลวงศุภชลาศัย ได้สมรสกับ สวาสดิ์ หุวนันท์ และ หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร พระธิดาพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติในหม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา
สำหรับบทบาทในคณะราษฎร ในส่วนวันก่อการ หลวงศุภชลาศัยได้เป็นผู้ช่วยในการตัดสัญญาณโทรศัพท์และโทรเลขที่กองพันพาหนะทหารเรือ บริเวณท่าราชวรดิฐ ร่วมกับคณะราษฎรสายทหารเรือคนอื่น ๆ เพื่อมิให้มีการติดต่อสื่อสารกับหน่วยอื่นได้ และรวบรวมอาวุธปืนและกระสุนจำนวน 45,000 นัด ที่งัดจากกองพันฯ ข้ามฟากมา ก่อนจะลำเลียงสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเวลา 06.00 น. อันเป็นจุดนัดหมายเพื่อรวบรวมกำลังทหารเรือ ก่อนที่กำลังทหารบกและพลเรือนจะมาสมบท จากนั้นเป็นผู้คุมกำลังเรือรบเข้าลาดตระเวนตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา และทำการคุมที่ท่าน้ำวังบางขุนพรหม อันเป็นสถานที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาพระนคร ไม่ให้หลบหนี และต่อมาได้รับหน้าที่เป็นผู้ถือหนังสืออัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล นิวัติยังพระนคร
รวมทั้งยังเป็นรัฐมนตรี ไม่ว่าจะว่าการกระทรวง หรือ รัฐมนตรีช่วย ทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรม มหาดไทย ศึกษาธิการ คมนาคม เกษตราธิการ ในสมัยนั้น รวมถึงรัฐมนตรีลอย รองผู้บัญชาการทหารเรือ อธิบดีกรมพลศึกษา
นับเป็นการตีวัวกระทบคราดอีกครั้ง ที่หวังให้กระเทือนเงาวันวานของคณะราษฏร สู่กลุ่มก้อนที่ใช้สัญลักษณ์อดีตกาลขับเคลื่อนและเคลื่อนไหวทางการเมือง