เปิดสูตร "กักตัวโควิด" หลัง ศบค. เล็งลด มาตรการกักตัว เหลือกี่วัน เช็คเลย
"กักตัวโควิด" ศบค. เล็งลด มาตรการกักตัว ผู้ติดเชื้อโควิด19 แนะใช้สูตร '5+5' ส่วน โรคประจำถิ่น ต้องรอพิจารณาอีกที
วันที่ 5 ก.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันศุกร์นี้ จะมีการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมครั้งนี้ จะหารือเรื่องมาตรการผ่อนปรนระยะเวลากักตัวโควิด ของ ผู้ติดเชื้อโควิด จากแต่ก่อนต้องกักตัวถึง 14 วัน และต่อมาในปัจจุบันกักตัวระยะเวลา 10 วัน จะแบ่งเป็น 7 วันแรก ต้องแยกกักตัวแบบเดี่ยว 3 วัน ต่อมากักตัวเพื่อดูอาการ
แต่ในการประชุมที่จะถึงนี้ คณะกรรมการแพทย์ด้านวิชาการ จะมีการพิจารณาโดยใช้มาตรการ 5+5 คือหลังจากที่รู้ว่ามีการ ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องกักตัวแบบเดี่ยว 5 วัน และหลังจากนั้นต้องกักตัวอีก 5 วันเพื่อดูอาการ
นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงการจะประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นยังคงต้องรอให้ ศบค. พิจารณาเสียก่อน เพราะต้องคำนึงถึง มาตรการด้านการแพทย์,สาธารณสุข และสังคม อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงมาตรการด้านกฏหมาย ที่จะใช้ในการเยียวยาประชาชน ซึ่งในวันศุกร์นี้จะมีการแถลงต่อประชาชน ส่วนที่เคยพูดว่าวันที่ 1 ก.ค. จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่น นั้นเป็นแค่การกำหนดเวลาแบบคร่าว ๆ
นพ.โอภาส ได้กล่าวว่า "ในนิยามกฎหมาย ไม่มีคำว่าโรคประจำถิ่น มีแต่โรคติดต่อ โรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง และโรคติดต่ออันตราย ถ้าจะลดระดับคงเหลือแค่เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง"
ผู้สื่อข่าวยังถามอีกว่า สถานการณ์ โควิด ในช่วงนี้จะมีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ นพ.โอภาส ได้ตอบว่า เราคาดการณ์กันอยู่แล้วว่า สถานการณ์การแพร่เชื้อจะมีความรุนแรงขึ้นจากเดิม ส่วนใหญ่การ ติดเชื้อโควิด-19 จะเจอจากการไปสังสรรค์ พบปะผู้คน งานเลี้ยง หรืองานปาร์ตี้ แต่ที่เราต้องคอยดูอยู่คือ สภาวะรองรับการรักษาตัวของผู้ป่วยหนัก ในภาพรวมประเทศ ถ้าผู้ป่วยหนักไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ก็ยังถือว่าไม่เป็นสถานการณ์ที่อันตราย
นอกจากนี้ ยังมีการประกาศให้เฝ้าระวัง จากปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต) และปลัดกระทรวงมหาดไทย (สุทธิพงษ์ จุลเจริญ) ที่ทำหนังสือขอให้ข้าราชการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดต่อไป