"การเรียนรู้" มีค่า สำหรับคุณมากแค่ไหน พบกับแหล่งความรู้ใหม่ จาก AIS Academy
ทางเลือกใหม่ของแหล่งความรู้ และแหล่งเรียนรู้จาก AIS Academy "LearnDi / ReadDi" แพลตฟอร์มน้องใหม่จาก AIS Academy ที่มุ่งหวังอยากให้คนไทยมีความรู้และทักษะชีวิตที่ดีขึ้น
เพราะ...การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน
เพราะ...การเรียนรู้จะช่วยพัฒนาตนเอง ไปได้ไกลยิ่งขึ้น
ความรู้ที่ดีและหลากหลาย ไม่สามารถหาได้ง่าย ๆ ในที่เดียว แต่ละคนยังมีความต้องการที่แตกต่าง เราจึงเข้าใจดี ว่าอะไรคือสิ่งที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกคน เปิดประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาตนเองในรูปแบบใหม่ ๆ บนโลกดิจิทัล กับ LearnDi ที่พร้อมจะพัฒนาทุกคน และทุกองค์กร ให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยมิติใหม่แห่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา LearnDi พร้อมตอบโจทย์ ทุกความต้องการ
AIS Academy ต้องการสนับสนุนการเรียนรู้ เพื่อคนยุคดิจิทัล เพราะเราเชื่อว่า สิ่งที่เราทำต้องสร้างสรรค์และมีประโยชน์ต่อสังคม และคู่ค้าของเรา เราจึงคิดรูปแบบ เพื่อที่จะนำแนวทางการแก้ปัญหาในองค์กร ที่เราใช้อยู่แล้ว ร่วมกับพันธมิตรของเรา เผื่อแผ่ออกไปสำหรับผู้ที่ต้องการจะเพิ่มทักษะตัวเองให้มีความรู้ ความสามารถเท่าเทียมผู้อื่น นั่นอาจหมายถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ดีขึ้น
นี่คือสิ่งที่ AIS Academy พยายามบอกกับเรา แต่เพื่อความเข้าที่ดีขึ้น เราได้มีโอกาสฟังเรื่องราวดี ๆ จาก ดร.ปรง ธาระวานิช และดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ สองผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มน้องใหม่จาก AIS Academy
บทเริ่มต้น
ดร.ปรง : เราเปิดตัวเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมานี่เอง คือเราใช้ของเราเองในองค์กร จนกระทั่งมั่นใจว่าน่าจะมีประโยชน์ เลยเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ผลตอบรับค่อนข้างดี AIS เราไม่ได้ทำออกมาเพื่อการขาย เราเป็น Technology company อย่างไรก็ตามเรามีคู่ค้าหลาย ๆ เจ้า ตั้งแต่ Enterprise ขนาดใหญ่ ไปจนถึง SME ระดับกลางและระดับเล็ก ได้ทดลองเข้ามาใช้แพลตฟอร์มของเรา รวมไปถึงมีการร่วมมือกับทางภาครัฐ ไม่ว่าจะกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เรามีโอกาสได้ไปร่วมสนับสนุนให้ทั้งสองหน่วยงานได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มของเรา จากที่ทำไว้ใช้ในองค์กร AIS เอง จนถึงวันที่รู้แล้วว่า สามารถนำออกมาเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนได้ และเชื่อว่าบุคคลทั่วไปจะได้รับประโยชน์ ปัจจุบันความรู้มีมากมาย สามารถสืบค้นได้ทุก ๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นใน YouTube, Google และ Facebook คำถามคือคอนเทนต์เหล่านี้ถูกต้องจริงหรือเปล่า นี่คือคำถามแรก ข้อที่สองคือคอนเทนต์เหล่านี้เหมาะกับสิ่งที่เราจะเอาไปใช้พัฒนาตัวเองหรือพัฒนาการทำงานของเราได้มากหรือน้อยแค่ไหน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่แพลตฟอร์ม LearnDi มี คือคอนเทนต์ที่ถูกต้อง เพราะเราได้ร่วมมือกับพันธมิตรและ partner ทั้งภายในประเทศและมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ที่กำลังขยายอยู่ อีกนัยหนึ่งคือสามารถพูดได้ว่าเราไม่ใช่คอนเทนต์ประเภทครูพักลักจำ แต่มีที่มาที่ไป มี proven record และ research รับรอง
เรื่องที่สองบนแพลตฟอร์ม LearnDi นี้เราเชื่อว่าหลายคนอยากเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ แต่คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ จะเริ่มจากตรงไหน จะเริ่มจากระดับที่ยากหรือในระดับที่ง่าย อันนี้คือปัญหาโลกแตก บนแพลตฟอร์มนี้เราสามารถประเมินสมรรถนะตัวเองได้ สมมติว่าเราอยากเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เครื่องมือตัวนี้จะสามารถช่วยประเมินได้ว่าเรา เรามีความรู้ในด้านนี้อยู่ที่ระดับไหน เพื่อที่แพลตฟอร์มตัวนี้จะแนะนำวิชาที่เราควรจะเรียนรู้ได้ถูกตามระดับความรู้ของเรา ซึ่งเชื่อว่าเราเป็นที่เดียวที่สามารถนำระบบนี้มารันเข้ากับแพลตฟอร์มของเราได้ ซึ่งเครื่องมือตัวนี้ เราได้ทำการวิจัยร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นงานวิจัยระดับโลกและเราก็นำเอาตัวนี้มาใช้ให้เข้ากับ LearnDi
ดร.สุพจน์ : ทางเราเองได้ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่น ๆ และทางภาครัฐ ทั้งยังมีการเปิดเว็บไซต์ที่เป็นสาธารณะ ซึ่งบุคคลทั่วไปก็สามารถที่จะเข้ามาเรียนรู้ในส่วนของคอนเทนต์ที่เราคัดสรรมาให้ได้ ภาพที่เกิดขึ้นเราใช้ความชำนาญและความเชี่ยวชาญในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรของทางทีมงาน AIS เอง ผนวกกับเรื่องของเทคโนโลยีที่เห็นว่าเป็นเทรนด์เรื่องของการเรียนรู้ เพราะรูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนไปเส้นทางการเรียนรู้ของผู้เรียนตั้งแต่เริ่มต้นเลยเขาต้องมีอะไรบ้าง เราเริ่มต้นจากการประเมินทักษะของผู้เรียนว่ามีความรู้ระดับไหน ประเมินแล้วต้องไปต่อยังไง เรียนรู้อย่างไร การติดตามเป็นยังไง มีการวัดผลอย่างไร จนจบถึงขั้นที่ว่ามีการบันทึกรายละเอียดของผู้เรียนเป็นรายบุคคล แล้วนำไปวิเคราะห์ออกมา นี่คือภาพรวมของคนที่ผนวกเข้ากับเทคโนโลยี สุดท้ายสิ่งที่เราคาดหวัง คือแพลตฟอร์มนี้จัดสร้างให้เกิด Impact ต่อคน ๆ นั้นและต่อองค์กรของเขา ถ้ามองในภาพใหญ่ก็คือเป็นการยกระดับคนไทยขึ้นมาในภาพรวมของสังคมด้วย
หน้าที่ของ LearnDi
ดร.สุพจน์ : ภาพรวมแพลตฟอร์มอาจจะดูเหมือนสถาบันการศึกษาออนไลน์ แต่เราไม่มองแบบนั้น ไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าเราติดตามกระแสโลก เรื่องการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในโลกที่เปลี่ยนไป บทบาทก็จะเปลี่ยนไปด้วย อีกอย่างหนึ่งคือเราก็จะเห็นว่าในภาคของเอกชนในหลาย ๆ ที่จะมีการคิดพัฒนาองค์กรของตัวเองขึ้นมา อย่างตัวเราเองตั้งแต่เริ่มทำสิ่งนี้มา สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร โลกเปลี่ยนเร็วมาก มีเรื่องขององค์ความรู้ เรื่องของทักษะใหม่ ๆ วิ่งเข้ามา ซึ่งทำให้การผลิตในภาคการศึกษาปกติกับการที่ต้องรอให้เรียน 4-5 ปีความรู้ที่เขาต้องใช้ในการทำงานอาจจะเร็วไม่เท่ากัน อันนี้อาจจะเป็นที่มา ทำไมหลายแห่งถึงต้องยกระดับตัวเองขึ้นมา แต่มันเป็นการทำเพื่อที่จะมาตอบโจทย์ในด้านของธุรกิจ ตอบโจทย์เรื่องของการทำงาน มากกว่าจะไปแทนที่หรือแข่งขันกับภาคมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว
ดร.ปรง : เรามองที่ปลายทาง เราอยากให้คนในองค์กรหรือว่าประชาชนทั่วไป มีความรู้ที่ดีขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับสังคมไทยและประเทศไทยให้เก่งขึ้น ฉะนั้นเลย เรื่องของความรู้เราคงไม่สามารถที่จะให้สถาบันการศึกษารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวได้ เราเองก็ขออนุญาตที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน จากที่เราเป็นเอกชนที่จะมาส่งเสริม หลังจากที่นักเรียนศึกษาจบจากสถาบันแล้ว เราในฐานะภาคของเอกชน พอจะรู้ว่าในกลุ่มธุรกิจต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถแบบไหน และต้องการพัฒนาคนของตนเองแบบใด เราก็มีการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่าเราช่วยซึ่งกันและกัน เราไม่ได้บอกว่าเราจะไปแทนที่ใคร ทุกคนมีหน้าที่สำคัญที่ทำให้คนในประเทศเก่งขึ้น
รับใบประกาศเมื่อสำเร็จ
ดร.ปรง : การเรียนในทุก ๆ วิชาความคาดหวังคือ ความรู้ ผมคิดว่าการวัดผลต้องมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสอบ หรือนำมาพรีเซ็นต์อะไรก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงสร้างหลักสูตรในวิชานั้น ๆ แน่นอนในโลกของสมัยใหม่ก็จะมี E- certificate เอไอเอสเรามองไปที่ lifelong learning คือองค์ความรู้ที่มีจะต้องติดตัวเราไปได้เรื่อย ๆ และต้องตรวจสอบได้ ต้องมีมาตรฐาน เอไอเอสเราได้ร่วมมือกับ Credy ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลก ในการออก Digital Credential หรือเราเรียกสั้นๆ ว่า Digital Badge แล้ว Digital badge แตกต่างอย่างไรกับ e-certificate ทั่วไป ซึ่ง Digital badge เป็นมาตฐานสากลที่ทำให้สามารถระบุตัวตนได้ว่าคนนี้จบมาจริงไหม จบจากไหน จบวิชาอะไร จบเมื่อไหร่ และไม่สามารถปลอมแปลงได้ ซึ่งจะติดตัวคนๆ นั้นไปตลอด
Digital Credential ไม่สามารถปลอมแปลงได้ หมายความว่าทั่วโลกใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน มหาวิทยาลัยชั้นนำก็ใช้แพลตฟอร์มนี้เช่นกัน อย่างเช่น Harvard, Stanford หรือบริษัทชั้นนำอย่างไมโครซอฟท์ IBM Oracleต้องบอกว่าเอไอเอสเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่ร่วมมือกับสถาบันต่างชาติ สามารถออกใบ certificate นี้ได้
ดร.สุพจน์ : เหมือนเราเรียนหนังสือปกติก็จะมีการวัดผลด้วยการทำข้อสอบ สุดท้ายจะทำยังไงให้การรับรองคุณวุฒิตรงนี้ให้มีความเป็นสากลและป้องกันเรื่องของการปลอมแปลงได้ ซึ่งตัวนี้สามารถเช็คได้ว่าผู้ให้เป็นใคร ผู้รับเรียนวิชาอะไร และรับรองว่าเป็นของจริงและมีที่มา ซึ่งถ้ามองไปยังโลกอนาคตเราจะมองเน้นไปที่ทักษะมากกว่าว่าเรียนจบอะไรมา
LearnDI แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป
ดร.สุพจน์ : ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงมาจากหลายด้าน แน่นอนว่าเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามามีผล แล้วทยอยมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนน่าจะมาจากสองแกน
แกนที่หนึ่ง คือมาจากคนรุ่นใหม่ที่เป็น Gen Z , Gen Alpha ซึ่งเป็นหน้าตาของคนอีกยุคหนึ่ง หรือแม้กระทั่งคนวัยทำงานที่เป็น Gen Y เองก็มีการเปลี่ยนแปลงไป นี่คือรูปแบบที่หนึ่ง
แกนที่สอง ที่เข้ามาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นก็คือเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามา รวดเร็ว สะดวกขึ้น เพราะสองอย่างนี้มารวมกันมันก็มาสร้างเป็นรูปแบบพฤติกรรมแบบใหม่ของการเรียนรู้ คนรุ่นใหม่ก็ชอบเรียนรู้อะไรที่รวดเร็ว สรุปสั้น ๆ เทรนด์ของการเสพสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อทั่วไปหรือสื่อการสอน ก็เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยยาวนาน เป็นชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง ตอนนี้คนดูรอไม่ไหวแล้ว เขาชอบอะไรที่มันกระชับและสั้น
ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามาส่งผลเรื่องของการเข้าถึงทำให้การเข้าถึงเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นมากกว่าอดีต และส่วนใหญ่แล้วการเข้าถึงก็เข้าผ่านทางอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ พอเป็นมือถือหน้าจอก็จะเล็กไม่เหมือนกับพีซีหรือแท็บเล็ต รูปแบบของการเสพสื่อต่างๆ ก็เปลี่ยนไปอีกเพราะขนาดหน้าจอเล็กลง จะทำอย่างไรให้การสื่อสารเป็นไปได้เมื่อหน้าจอเล็กลง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้จะเป็นตัวที่มากระทบ ในมุมของการที่เราจะมาวางแผนหรือช่วยพัฒนาบุคลากรหรือคนในองค์กรหรือแม้กระทั่งคนทั่วไป พวกนี้เป็นปัจจัยในการที่จะออกแบบเรื่องของแพลตฟอร์มหรือคอนเทนต์ที่จะมาเสิร์ฟเรื่องของความต้องการ ถ้าสรุปโดยรวมก็คือเราต้องมีความเข้าใจผู้เรียนว่าผู้เรียนหรือคนทำงานในปัจจุบันมีข้อจำกัดหรือชอบแบบไหน เป็นการสนองความต้องการของคนให้ได้มากที่สุด
ดร.ปรง : เราอาจจะเคยได้ยิน Micro-learning มาแล้วก่อนหน้านี้ อีกอย่างเราเป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แน่นอนว่าพนักงานของเราเรื่องมือถือก็คืออันดับหนึ่ง เราจึงมองเห็นเทรนด์ ว่านอกจากเรื่อง Micro-learning แล้ว ในอนาคตมันอาจจะเกิด Nano-learning มันจะเป็นแบบที่สั้นกว่าเดิม เข้าใจง่ายกว่าเดิม และแสดงอยู่ในระบบมือถือ เรามองเห็นเทรนด์นี้มาสักพักหนึ่ง ก็เลยมีโอกาสได้ใช้กับคนของเราเอง และคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์กับกลุ่มลูกค้า คู่ค้าและคนอื่นๆ
การเรียนออนไลน์กับบทบาทชีวิตในปัจจุบัน
ดร.ปรง : เราต้องถามว่าวิถีของการเสพความรู้ของคนมันเปลี่ยนไป แต่ละคนอาจจะมีความต้องการในการที่จะเสพความรู้ที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างในปัจจุบันรันอยู่ในโลกของเทคโนโลยี เรารันในหลายเรื่องอยู่บนมือถือของเรา เราลืมกระเป๋าสตางค์ได้แต่ไม่สามารถลืมโทรศัพท์มือถือได้ เราลืมบัตรประชาชนได้แต่ไม่สามารถลืมโทรศัพท์มือถือได้ เพราะฉะนั้นผมคงไม่บอกว่ามันคือออนไลน์หรือออฟไลน์ แต่มันคือดิจิตอลไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไปในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นกินข้าว ซื้อของช้อปปิ้ง แบงกิ้งเป็นดิจิตอลฉันใดก็ฉันนั้น ในเรื่องของการเสพสื่อก็จะมีการเปลี่ยนแปลงออกไป เรามองว่าสิ่งที่เราพยายามทำเป็นการยกระดับหรือว่าคิดเผื่อ เป็นการทำยังไงก็ได้ให้คนเข้าถึงองค์ความรู้โดยใช้เทคโนโลยีให้มากที่สุด
เทคโนโลยี ส่งผลดีอย่างไรในการเรียนรู้
ดร.สุพจน์ : ความจริงแล้วเรามีการใช้เทคโนโลยีกับการเรียนรู้มานานแล้ว ตั้งแต่การใช้แผ่นใส การใช้สไลด์มาจนถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบัน ที่ล้ำสมัยตอนนี้ก็ metaverse / VR / AR จุดประสงค์ในการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนก็คือการทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจได้มากที่สุด ปรับองค์ความรู้ย่อยลงมาให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายที่สุด แต่ทีนี้เป้าหมายที่ extreme ขึ้นไปหน่อยด้วยเพราะว่าเทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ราคาก็ถูกลง มีตัวเลือกมากมาย สิ่งถัดไปที่จะเกิดขึ้นก็คือจะสร้างให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เรียกว่า immersive experience คืออาจจะเป็นการเรียนที่เราสามารถรับรู้และซึมซับประสบการณ์การเรียนรู้ได้อย่างเสมือนจริงมากขึ้น ลึกซึ้งมากกว่าเมื่อก่อน เป็นต้น เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ในแบบเดิม ที่คุยกันเฉย ๆ อาจจะไม่ได้สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้มากเท่าใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ทำไมต้อง LearnDi
ดร.ปรง : จริง ๆ แล้ว LearnDi มีข้อเด่นในตัว ผมมองว่า LearnDi เกิดมาจากสิ่งที่เราลองผิดลองถูกมา เราได้ใช้เองและเราได้ใช้จริง ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าทำไมบริษัทของเรา มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสามารถยืนเป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบันนี่คือ
อันดับแรก เราเชื่อว่าเราเอาสิ่งที่ failed fast และ learn fast ออกมา apply แล้วก็สามารถเอาไปเผื่อแผ่ให้กับคู่ค้า ลูกค้า พาร์ทเนอร์และคนทั่วไป
อันดับที่สอง ด้าน learning journey เรามีตั้งแต่การประเมินทักษะเบื้องต้น ทุกคนไม่จำเป็นต้องเริ่มที่จุดเดียวกัน อย่างน้อยเราไม่ต้องไปหลับตาคลำว่าฉันต้องเริ่มตรงไหน มันทำให้การเรียนรู้เข้าประเด็นมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น
อย่างที่สาม ก็คือคอนเทนต์ของเราต้องบอกว่าเอไอเอสไม่ได้เก่งที่สุดในโลก เรามีเรื่องที่เราเก่งแต่แน่นอนว่ามันก็มีเจ้าอื่นที่เขาเก่งในเรื่องต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด eco system เรานำความเก่งของแต่ละท่านแต่ละพาร์ทเนอร์มารวมกัน เอไอเอสเราเก่งเรื่องเทคโนโลยี 5G เราเป็นที่หนึ่งอยู่แล้ว เรามีความรู้เรื่องนี้ เราจึงจับมือกับพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เขามีความเก่ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Leadership บางท่านเก่งในเรื่องของเซลล์ เราเอามารวมกันไว้อยู่บนแพลตฟอร์ม LearnDi สามารถทำให้หลาย ๆ คนไม่ต้องไปเสียเวลาในการค้นหา
เรื่องที่สี่ในเรื่องของ journey อย่างที่บอกไป คือ lifelong learning สกิลล์ที่ติดตัวเราต้องตรวจสอบได้จริง มันต้องอยู่กับบุคคลนั้นจริง กล่าวโดยสรุปคือตั้งแต่เริ่มเรียนจนเรียนจบ เราตอบโจทย์ในทุกมิติได้แน่นอน และเราไม่ได้มีการหยุดพัฒนาแต่เพียงเท่านี้ อย่างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามา เราก็เลยเริ่มรีเสิร์ชและทำการทดลองกับบุคคลภายในก่อน และถ้าเราคิดว่าเวิร์คก็จะปล่อยไปสู่บุคคลทั่วไป
เลือกเรียนอะไรดี ใน LearnDi
ดร.ปรง : บางคนอาจจะรู้หัวเรื่องอยู่แล้ว ถ้าอยากจะดูอะไรผมเชื่อว่าค้นหาได้ทุกคน ด้วยการพิมพ์คีย์เวิร์ดใน LearnDi ซึ่งเชื่อว่าทุกคนสามารถใช้ได้ไม่ยาก แต่ที่อยากจะแนะนำคือบางครั้งเรามีเรื่องที่อยากจะรู้ บางครั้งเราก็มีเรื่องที่เรารู้ว่าเราไม่รู้ และหลาย ๆ ครั้งเราก็ไม่รู้เลยว่าเราไม่รู้อะไรเลย การทำแบบทดสอบประเมินตัวเองก่อนอย่างน้อย ๆ จะเป็นเข็มทิศในการเรียนรู้ว่าเราแข็งแรงเรื่องอะไร อ่อนเรื่องอะไร จะมีคำแนะนำให้เราว่า คนที่มีโปรไฟล์คล้าย ๆ เรา เขาเรียนเรื่องอะไรกันบ้าง
เวลาไหนก็เรียนได้
ดร.สุพจน์ : การเรียนออนไลน์ที่เราสร้างขึ้นมาบนแพลตฟอร์มนี้ เกิดจากความต้องการของผู้เรียน ที่ต้องการความยืดหยุ่น ถูกไหมครับ ไม่ว่าจะที่ไหนเมื่อไหร่ แต่ในความเชื่อของเรา มองว่าภาคของการเรียนรู้มีหลายรูปแบบ เราเชื่อในเรื่องการเรียนรู้แบบผสมผสาน อย่างทุกวันนี้เราจัดคอร์สพัฒนาบุคลากรภายในของเอไอเอสเอง ในส่วนของเนื้อหาที่เป็นทฤษฎีก็คือสามารถเรียนรู้เองได้ ก็จะให้เรียนออนไลน์ พอเรียนออนไลน์เสร็จ ผ่านคอร์สต่อไปก็มาเจอกันในรูปแบบคลาสรูมที่เป็นเวิร์คช็อป ทำโปรเจ็กต์ร่วมกัน มีการผสมผสานกัน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้สอนแต่ละรายวิชาด้วย
เข้าสู่คำถามก็คือ ไม่จำเป็นต้องลงเป๊ะตามตาราง ถ้าเกิดเป็นรายวิชาที่ออนไลน์หมายความว่าเราสามารถตั้งเป็นเฉพาะหัวข้อก็ได้ หรือว่าเราจะตั้งเป็น learning path ก็ได้หมายความว่า สมมุติว่าการเรียนรู้ในหัวข้อนี้มี 10 module ผมสะดวกตอนไหนก็เข้าไปเรียนตอนนั้นได้ แต่ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนตาม learning path ที่ตั้งไว้
อันที่สองก็คือ เราเข้ามาเราอาจจะสืบค้นดูและหลังจากทำแบบทดสอบก่อนว่าเราขาดอะไรเราก็ไปเลือกเรียนได้เลยเหมือนการ Shopping เอง คือสามารถเรียนได้ตามที่ตัวเองต้องการและวางแผนไว้ แต่ที่อาจจะต้องฟิคไว้ ตามตารางเดิมก็คือตัวที่เป็นคลาสรูมอาจจะเป็น virtual class แบบออนไลน์ผ่านซูมก็เป็น virtual ที่ต้องมีการนัดเวลากัน ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งก็คือเป็นคลาสรูมปกติ ช่วงนี้สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้นก็จะมีการทำเป็นเวิร์คช็อป ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเกิดจะพูดเป็นคำวิชาการนิดนึงก็คือ สิ่งที่เราออกแบบไว้มันตอบโจทย์ทั้งแบบที่เป็นการเรียนแบบ synchronous learning คือการเรียนการสอนที่ต้องนัดผู้เรียนทุกคนมาพร้อมกัน และ asynchronous learning คือเมื่อไหร่ก็ได้ยืดหยุ่นตามเวลาของผู้เรียนเป็นหลัก
เรียนจบแล้ว ใบประกาศ มีประโยชน์อย่างไร
ดร.ปรง : อันดับแรกถ้ามองในมิติของการจ้างงานอันนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเรามีทักษะเหล่านั้นจริง ๆ อันนี้คือสิ่งที่ชัดเจนแม้ว่าเราจะส่งเรซูเม่ที่เป็น digital format หรือจะเป็นกระดาษก็ตามแต่ ตัวนี้จะเป็นสัญลักษณ์ว่าเรามีความรู้เรื่องนี้ ในทางกลับกันในแง่ของการบริหารที่เป็นองค์กร มันก็สามารถบริหารจัดการได้ง่ายว่า คนเหล่านี้เหมาะสมในการที่จะโยกย้ายตำแหน่งหรือไม่ ดังนั้นในบริษัทใหญ่ ๆ สามารถวางแผน landscape เรื่องพนักงานได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน
เมื่อการเรียน ต้องมาพร้อมกับการอ่าน จึงเกิด ReadDi
ดร.ปรง : หลายคนผ่านการเรียนมาไม่ว่าจะเป็นประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ทุกที่มีห้องสมุด ห้องสมุดจึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมองค์ความรู้ หลายคนอาจจะพูดว่าห้องสมุดตายไปแล้ว จริง ๆ ไม่ใช่หรอก ห้องสมุดยังมีหน้าที่บทบาทสำคัญเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าวิธีการหรือว่าการให้บริการเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมและวัฒนธรรมนั้น ๆ เอไอเอสก็เป็นองค์กรที่ก่อนหน้านี้เราก็มีห้องสมุดให้กับคนในองค์กร จนถึงปัจจุบันเราก็ยังมีห้องสมุด
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีก่อนหน้านี้เป็นห้องสมุดแบบ traditional หมายความว่ามีชั้นหนังสือ มีหนังสืออยู่วางเรียงยาว ๆ ห้องจะเงียบเงียบพูดคุยกันไม่ได้ กินอาหารไม่ได้ แต่ว่าอย่าลืมว่าวิถีปัจจุบันของพนักงาน AIS หรือพวกเราทุกคนมันเปลี่ยนไป แน่นอนว่าหลายคนคงมีโอกาสได้ไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟไปอ่านหนังสือ
ย้อนกลับมาที่เอไอเอสเรามีพนักงานอยู่ 12,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพ เรามีทั้งกรุงเทพ ปริมณฑลและต่างจังหวัด คำถามคือว่า นอกจากออนไลน์ learning แพลตฟอร์มแล้ว ทำอย่างไรให้ คนของเราที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงความรู้ได้ในแบบที่เขาต้องการ แน่นอนว่า LearnDi ตอบโจทย์ในเรื่องของการเรียนรู้ อบรม นั่งฟัง บางครั้งต้องเสริมด้วยองค์ความรู้ที่เป็นหนังสือเล่มหรือเป็นอีบุ๊คด้วย ทำอย่างไรที่จะให้พนักงานเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องเข้ามากรุงเทพฯ
ก็มีการร่วมมือกับ start up ที่เป็น partner ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า ReadDi ขึ้นมา สามารถบริหารจัดการห้องสมุด คือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนคุณสามารถยืมหนังสือเล่มได้ทุกที่ ทุกเวลา เราสามารถจัดส่งหนังสือด้วย Messenger ไปต่างจังหวัดได้ทั้งหมด และจะมีเวลาในการอ่าน เมื่ออ่านเสร็จเขาก็ต้องไปดรอป Box และหนังสือจะถูกส่งกลับมา แต่ถ้าหากอ่านเกินเวลาจะมีแอพพลิเคชั่นสำหรับไว้จ่ายค่าปรับ นี่คือเรื่องของหนังสือเล่ม
ในทางกลับกันบางคนชอบที่จะอ่านอีบุ๊ค ก็สามารถเข้าแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า ReadDi ได้เหมือนกัน ในการยืมหนังสือที่เป็นอีบุ๊คได้ เมื่อเขากดยืมอีบุ๊คก็จะถูกดาวน์โหลดไปใน Account ของเขา ซึ่งมีเวลาประมาณสองอาทิตย์และพอถึงสองอาทิตย์ไม่ว่าจะอ่านจบไม่จบหนังสือเล่มนี้ ก็จะหายไปจาก Account เพื่อที่ว่าคนที่ต่อคิวอยู่จะสามารถอัพโหลดอีบุ๊คอันนี้ไปบนแพลตฟอร์มได้
อย่างที่บอกว่าหลัก ๆ คือเราต้องการให้แพลตฟอร์มที่เรามีมาให้บริการคนภายใน และคนภายนอกเราต้องการให้คนสามารถเข้าถึงความรู้ได้รวดเร็วที่สุด อันดับที่สองคือความรู้ต้องถูกต้องที่สุด อันดับที่สามสามารถเข้าถึงความรู้ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ learning หรือหนังสือเล่มหรือเป็นอีบุ๊คได้ในเวลาที่เขาต้องการ
ใครบ้างที่เหมาะกับ ReadDi
ดร.สุพจน์ : เหมาะกับการใช้งานกับแทบจะทุกองค์กร เพราะการจัดการองค์ความรู้ในแต่ละองค์กรหรือโรงเรียน ถ้ามีระบบแบบที่กล่าวไปทั้งหมดจะช่วยจัดการระบบเรื่องของหนังสือเล่ม เรื่องของสื่อแบบใหม่ที่เป็นอีบุ๊คหรือแม้กระทั่งสื่อที่เป็นสื่อทันสมัยเพิ่มขึ้น อย่างเป็นมัลติมีเดียที่เป็นเรื่องของวิดีโอหรืออินโฟกราฟิกต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการเบ็ดเสร็จอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น concept ของการที่เรายกขึ้นมาทำเรื่องของ knowledge management ให้กับองค์กรหรือว่าโรงเรียนที่จะเอาไปใช้สามารถบริหารจัดการให้เบ็ดเสร็จได้ในขั้นตอนเดียว ปัจจุบันก็มีโรงเรียนหลาย ๆ โรงเรียนที่ได้ใช้แพลตฟอร์มนี้แล้ว และองค์กรเอกชนเองก็เริ่มมีความสนใจมากขึ้น เพราะว่าเมื่อเทียบกับตัวโซลูชั่นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Server อะไรเองตัวนี้มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากและตอบโจทย์กับเรื่องการบริหารจัดการความรู้ต่าง ๆ ด้วย ช่วงแรก ๆ นี้เราเปิดให้บริการกับโรงเรียนและองค์กรก่อน
ดร.ปรง : จินตนาการว่าสองปีที่ผ่านมาลูกหลานของเราต้องเรียนออนไลน์ ลองจินตนาการว่าในภาคการศึกษา ห้องสมุดเป็นเหมือนสิ่งที่นักเรียนต้องไปค้นคว้าหาความรู้ การที่เขาต้องเรียนอยู่ที่บ้านเขาไม่สามารถที่จะเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้ได้ เข้า Google ก็ไม่รู้จะทำยังไง เวลาสั่งการบ้านว่าต้องต้องไปอ่านหนังสือเล่มนี้มา ก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าหลายโรงเรียนเริ่มที่จะ Apply Solution ReadDi ของเราไปใช้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าโควิด-19 จะกลับมาอีกหรือเปล่า หรือจะมีญาติโควิด-19เกิดขึ้นในอนาคตอีกไหม เพียงแต่ว่าทำยังไงก็ได้ให้เด็กนักเรียนเข้าถึงความรู้ได้ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม แต่ถ้าสมมติตอนนี้โรงเรียนเปิดแล้วจะกลับไปบริหารจัดการห้องสมุดแบบเดิมก็ทำได้ แต่ถ้าเกิดมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคตและเราจำเป็นต้องเรียนออนไลน์อีก เราก็อยากจะเข้าถึงความรู้ในห้องสมุดได้
ทำไมต้องเลือก ReadDi เป็นแหล่งข้อมูล
ดร.ปรง : ผมว่าปัจจุบันวิธีการเสพความรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นองค์กรไม่สามารถสั่งหรือบอกได้ว่าเธอจะต้องเรียนอย่างนี้เพียงแต่ว่าโลกปัจจุบันและอนาคต better of option ขึ้นมา Better of choices ว่าเราอยากจะได้สิ่งเหล่านี้โดยวิธีการแบบไหน อย่างผมเป็นคนรุ่นเก่าผมยังชอบอ่านหนังสือเล่มอยู่ ReadDi ที่เป็น traditional book ตอบโจทย์คนอย่างผม ในทางกลับกันถ้าเกิดเป็นคนรุ่นใหม่เขาอยากเลือกที่จะอ่านแบบอีบุ๊คเขาเลือกที่จะเรียนผ่านวิดีโอ อย่างมีรุ่นน้องที่เขาไม่ได้มีเวลาเป็นหลายชั่วโมงในการหาความรู้ในระหว่างที่เขานั่งบีทีเอส 20 - 30 นาทีก็สามารถหาความรู้แบบรวดเร็วไปได้ผ่านตัววิดีโอสั้น ๆ ได้
เพราะฉะนั้นตอบคำถามว่าไม่ใช่แค่ ทำไมถึงต้องเป็น LearnDi หรือ ReadDi แต่ทุกเทคโนโลยีทุกแพลตฟอร์ม เราพยายามที่จะสร้าง option สร้างทางเลือกให้กับทุกคนให้ได้มากที่สุด
ส่งท้าย
ไม่ว่าแพลตฟอร์มนั้นใครจะเป็นคนทำ ผมเชื่อว่าปลายทางคือความรู้ ความสามารถและทักษะที่ผู้เรียนจะนำติดตัวไปได้และใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ลงทุนเสียเวลาเรียนไปแล้วนำไปต่อยอด ปรับใช้ในชีวิตประจำวันและพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อความมั่นคงในอาชีพและความก้าวหน้า ขอเพียงอย่าหยุดที่จะเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ นะครับ
ดร.ปรง ธาระวานิช
ตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายงานการบริหารความเป็นเลิศด้านทรัพยากรบุคคล
(Head of Human Resources Operational Excellence Department: H-HROE)
ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์
ตำแหน่ง หัวหน้าสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคล
(Head of AIS Academy: H-ACM)
หลังจากรับรู้ข้อมูลของ LearnDi และ ReadDi กันไปแล้ว ท่านใดสนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครเรียนได้ที่ https://www.aisacademy.com/
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057