ผลวิจัยพบการสูบบุหรี่- ควันบุหรี่มือสอง เพิ่มจากปี2560 ถึง 5 เท่า ในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ล่าสุด สธ.จับมือ อว. "155 มหาวิทยาลัย" ทำสิ่งนี้เพื่อเด็กไทย
5 กรกฎาคม 2565 ที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กรุงเทพมหานครฯ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย รศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และอธิการบดี จาก “155 มหาวิทยาลัย” ทั่วประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ป้องกันมิให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนระดับอุดมศึกษา
นพ.ธงชัย กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน เป็นต้น ในแต่ละปีมีประชากรมากกว่า 9 ล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ จำนวนนี้มากกว่า 8 ล้านคนเสียชีวิตโดยตรงจากการสูบบุหรี่ และอีก 1 ล้านคน ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ หรือควันบุหรี่มือสอง ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ สื่อสารบนช่องทางออนไลน์ อาจส่งผลให้เยาวชนเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้
จากการสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 20 -24 ปี เป็นกลุ่มที่กำลังศึกษา ในระดับอุดมศึกษา พบว่า ปี พ.ศ. 2564 มีเยาวชนที่สูบบุหรี่ จำนวนเกือบ 900,000 คน คิดเป็นอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 18.5 และการพบเห็นการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสองในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 ประมาณ 5 เท่า แสดงให้เห็นว่าสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง นำไปสู่การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้ไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่โดยตรง
ติดตามกระแสโซเชี่ยลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/komchadluek/
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และอธิการบดี “155 มหาวิทยาลัย” ทั่วประเทศ ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ สนับสนุนให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เพื่อป้องกันมิให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ รวมถึงคุ้มครองสุขภาพ นิสิต/นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรของสถานศึกษาไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการได้รับควันบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดควันบุหรี่ในสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา
ด้าน รศ.พาสิทธิ์ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและกำกับกระทรวง จำนวน 155 แห่ง สนับสนุนและขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิด “สถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่” โดยประกาศนโยบายเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ มีการจัดสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่, จัดกิจกรรมการให้บริการคัดกรอง บำบัด ฟื้นฟู หรือส่งต่อผู้สูบที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ทุกรูปแบบตามความเหมาะสม, สร้างการมีส่วนร่วมของนิสิตและนักศึกษา สอดแทรกเนื้อหาหรือหลักสูตรการเรียนการสอนและปฏิเสธการรับทุนอุปถัมภ์/การสนับสนุนจากผู้ประกอบธุรกิจยาสูบและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบรูปแบบต่าง ๆ
ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวว่า สมาพันธ์ฯได้ดำเนินงานพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ปลอดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 197 แห่ง จัดทำคู่มือและอบรมหลักสูตรต่าง ๆ รวมถึงเน้นย้ำการป้องกันนิสิต นักศึกษา บุคลากรจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจากงานวิจัยของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่าวัยอุดมศึกษาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 45 โดยเริ่มสูบเพราะอยากลอง และได้รับการสื่อสารว่าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสื่อออนไลน์ ทำให้เข้าถึงและซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย และข้อกังวลคือผู้ที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสที่จะเริ่มต้นสูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่เคยลองใช้เกือบ 4 เท่า
“ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯพร้อมร่วมมือพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง เพื่อสุขภาพที่ดีของเยาวชนไทย อันเป็นอนาคตสำคัญของประเทศ”
ติดตามข่าวคมชัดลึกอื่นๆได้ที่ https://www.komchadluek.net/