ปลอมเอกสารประกัน ยื่นสินไหมทดเเทน"โควิด" เสี่ยงติดคุก 5 ปี ฐานฉ้อโกงประกันฯ
"โฆษกสภาทนาย" ชี้ คนปลอมเอกสารประกันยื่นสินไหมทดเเทน"โควิด" โดนคดีฉ้อโกงประกันฯ โทษหนักคุกไม่เกิน 5 ปี ส่วนปลอมเเปลงเอกสาร-ฉ้อฉลประกันคุกไม่เกิน 3 ปี
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 65 จากกรณี "นายกสมาคมวินาศภัย" ออกมาเปิดเผยว่าบริษัทประกันภัยที่เป็นสมาชิกกับสมาคมฯ ได้ตรวจสอบเอกสารการขอ"สินไหมทดแทนประกันภัยโควิด" แบบเจอจ่ายจบ พบมีการปลอมแปลงเอกสาร คือ หมายเลขประจำตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดรายอื่น มาใช้เป็นหมายเลขประจำตัวผู้ป่วยของตนเอง และทำเอกสารใบรับรองผลตรวจโควิดปลอม เพื่อยื่นขอค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นจำนวนแล้วกว่า 500 ล้านบาทนั้น
นายนิพนธ์ จันทเวช เลขาธิการสภาทนายความ ในฐานะโฆษกสภาทนายความ ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า การปลอมเป็นวิธีการให้ได้มาซึ่งเอกสารปลอมและนำไปใช้ ซึ่งกรณีดังกล่าวความผิดปลอมแปลงเอกสาร โดยผู้จัดทำเอกสารปลอมจะมีความผิดปลอมแปลงเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.264 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้นำเอกสารปลอมไปใช้จะมีความผิดใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อาญา ม.268 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ทำเอกสารปลอม ตามประเภทของเอกสารที่ใช้นั้นๆ และยังเข้าลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย ตามมาตรา 114/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 และมาตรา 108/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังมีความผิด"ฉ้อโกงประกันวินาศภัย" มาตรา 347 นำเอกสารปลอมเป็นเครื่องมือไปใช้หลอกลวง ซึ่งมีโทษหนักกว่าฉ้อโกงธรรมดา โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ผู้กระทำผิดจะอ้างว่าไม่เจตนา เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ยอมตรวจโควิด และออกใบรับรองให้ไม่ได้ เพราะมีความผิดตั้งแต่คิดที่จะทำแล้ว