"สุดารัตน์" ซัด ค่าไฟจ่อแพง แนะใช้ไม่เกิน 1พัน รัฐช่วย 500 บาท นอกเหนือบัตรฯ
"ไทยสร้างไทย" ห่วงประชาชน หลังกกพ.เตรียมพิจารณาอาจขึ้นค่าไฟผันแปร ติงรัฐช่วยเหลือค่าไฟให้ตรงจุด ไม่จำเป็นเปิดลงทะเบียนให้ยุ่งยาก แนะผู้ใช้ไม่เกิน 1,000 บาท ช่วย 500 บาท
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แต่การได้สิทธิมานั้นมีความยุ่งยากซ้ำซ้อน เพราะต้องลงทะเบียนในการได้รับสิทธิช่วยเหลือค่าไฟ แน่นอนว่า ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ พรรคไทยสร้างไทยเห็นว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องให้มีการลงทะเบียนเพื่อช่วยเหลือค่าไฟให้ยุ่งยาก เพิ่มความลำบากให้แก่ประชาชน การช่วยเหลือประชาชนต้องทำให้ง่ายในการเข้าถึง ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย เสนอว่า หากครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 1,000 บาท รัฐบาลจะอุดหนุน 500 บาท หากครัวเรือนที่ใช้ค่าไฟเกิน 1,000 บาท ก็ให้คิดค่าไฟตามปกติ สำหรับผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย ก็สามารถใช้ไฟฟรีได้ตามปกติ เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือที่ครอบคลุมและตรงจุดต่อไป
ส่วนมาตรการช่วยเหลือค่าไฟแก่ผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ที่ช่วยเหลือครัวเรือนไม่เกิน 315 บาทต่อเดือน และหากเกินจาก 315 บาทต่อเดือน ครัวเรือนนั้นต้องจ่ายค่าไฟตามปกติ เป็นการช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบันที่ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทำให้ประชาชนทำงานอยู่บ้านเพิ่มขึ้น และนักเรียนต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน เมื่อมีการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงเรียน ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟผันแปร (FT) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าไฟเป็น 5 บาทต่อหน่วย งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า จะไปกระทบกับค่าครองชีพประชาชน ที่ผ่านมาต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง เป็นผลต่อเนื่องซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2564 พุ่งขึ้นมาเป็น 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 90.1 ต่อ GDP สะท้อนให้เห็นถึง ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายในการดำรงชีพ จึงทำให้ประชาชนต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้น เพื่อประคองให้อยู่รอดในช่วงวิกฤติ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กำลังซื้อของคนไทยจะหดหายอย่างแน่นอน เพราะจะต้องนำรายได้ส่วนใหญ่มาใช้หนี้ ซึ่งจะไปกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ทั้งนี้ช่วงปลายสัปดาห์ กกพ. เตรียมพิจารณาทบทวนและปรับเพิ่มค่าFT เนื่องจากเกิดปัญหาจาก
-ต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีแนวโน้มราคาแพงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน ที่พุ่งสูงแตะระดับ 30 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากเดิมอยู่ที่ 20 กว่าดอลาร์ต่อล้านบีทียู
-ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง
-ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยไม่เป็นตามเป้า ยังขาดความชัดเจน ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำ และแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมมีปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณป้อนเข้าสู่ระบบได้ถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์ลิตรต่อวัน จนถึงขณะนี้ผู้รับสัมปทานก็ยังไม่สามารถแจ้งปริมาณที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อชดเชยก๊าซที่ขาดหายไปได้อย่างชัดเจน ทำให้การบริหารจัดการ และการวางแผนทำได้ยากมากขึ้นด้วย
-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับแทนประชาชนอีกกว่า 80,000 ล้านบาท หากไม่มีการปรับเพิ่มค่าFT อาจทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับถึง 100,000 ล้านบาทภายในปีนี้ได้