ข่าว

กฎหมาย"ฉีดไข่ฝ่อ" ผ่านมติ สว. แล้ว ป้องกันกระทำผิดซ้ำคดีล่วงละเมิดฯ

กฎหมาย"ฉีดไข่ฝ่อ" ผ่านมติ สว. แล้ว ป้องกันกระทำผิดซ้ำคดีล่วงละเมิดฯ

12 ก.ค. 2565

ที่ประชุมวุฒิสภา มติผ่านฉลุย ร่างกฎหมายฉีดไข่ให้ฝ่อ ป้องกันกระทำผิดซ้ำ ด้านกมธ.แจงปัจจุบันยาที่ใช้รักษา คือ ยาลดฮอร์โมนเพศชาย ต้องฉีดทุก 3เดือน อนาคตอาจเปลี่ยนเป็นยากิน ที่เห็นผลช่วยลดพฤติกรรมผิดปกติได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) มีวาระพิจารณร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดฯ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … ในวาระ 2-3 ภายหลังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่างพ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดฯ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … วุฒิสภา มาแล้ว 

 

ในที่ประชุมมีวาระสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด จะมีมาตรการทางการแพทย์สามารถให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย(ฉีดให้ฝ่อ) แก่ผู้กระทำผิด หากเห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และอายุรศาสตร์อย่างน้อย 2 คน เห็นพ้องกัน และได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด  และให้นำผลการใช้มาตรการทางการ แพทย์ดังกล่าว เป็นเงื่อนไขพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้

 

ในที่ประชุม ส.ว. อภิปรายร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมาตรา 21 เรื่องมาตรการทางการแพทย์ที่เปิดช่อง ให้มีการฉีดยา ลดฮอร์โมนเพศ แก่ผู้กระทำผิด มีส.ว.ให้ความสนใจอภิปรายหลายคน ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่ยังติดใจว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ 

พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า การฉีดยาให้ฝ่อ ถือเป็นความลำบากของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องการฉีดให้ฝ่อไว้ คงไม่มีแพทย์คนใดทำให้แน่ หากจะทำได้แพทยสภา ต้องไปออกหลักการในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้รองรับไว้ก่อน รวมถึงมาตรา 21 ระบุอีกว่า การฉีดให้ฝ่อจะกระทำได้ หากผู้กระทำผิดหรือเว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น อยากทราบคำว่า “กฎหมายระบุไว้เป็นอย่างอื่น”คืออะไร เพราะเหมือนเขียนแบบตีเช็กเปล่า เปิดช่องให้ผู้กระทำผิดถูกฉีดยา แม้ไม่ยินยอมก็ตาม 

ขณะที่นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว. อภิปรายว่า การฉีดยาดังกล่าวไม่ได้หมายถึงทำให้ฝ่อ แต่เป็นยาลดฮอร์โมนชาย หลายคนบอกไม่ได้อยากทำผิด แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เวลาเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จึงอยากให้ช่วยให้ควบคุมตัวเองได้ ส่วนข้อสงสัยว่า ผู้กระทำความผิดต้องยินยอมให้ฉีด จึงจะกระทำได้ แล้วจะมีคนยินยอมให้ฉีดหรือไม่นั้น เชื่อว่ามีคนยินยอม โดยคนที่ยินยอมให้ฉีดคือ คนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้จะยินยอมให้ฉีด รวมถึงถ้ายินยอมให้ฉีดจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลง ทำให้มีโอกาสได้รับความยินยอม  

ด้านพล.ต.นพ.ไตรโรจน์ ครุทเวโช ส.ว. ในฐานะกมธ.ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาคือยาลดฮอร์โมนชาย เพื่อกดการสร้างฮอร์โมนที่ต้องฉีดทุก 3 เดือน แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ทำให้ฝ่อจริงหรือไม่ แต่ต่อไปจะมียากินที่ขณะนี้พบว่า ช่วยลดพฤติกรรมผิดปกติได้ ส่วนกรณีที่ยังไม่มีการออกกฎหมายรองรับให้แพทย์ฉีดยาให้ฝ่อนั้น เชื่อว่าหลังกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ทางแพทยสภาจะไปออกกฎหมาย เพื่อรองรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป 

 

จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 21 ด้วยคะแนน 137 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง 

 

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีวาระที่อภิปรายกันอีกหลายเรื่อง เช่น การเพิ่มมาตรการติดตามผู้กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับเพศ หรือการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดทางเพศ เกี่ยวกับเด็ก การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ที่แม้จะถูกจำคุกพ้นกำหนดโทษ ได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว แต่มีผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่ง มีแนวโน้มทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมอีก จึงต้องมีกฎหมายเฉพาะ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน การกระทำความผิดซ้ำ โดยกำหนดให้มีทั้งมาตรการแก้ไข ฟื้นฟู ผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวัง ภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขัง ภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังฉุกเฉิน ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นอีก

 

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า หลังที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวาง พิจารณาครบทั้ง 43 มาตราแล้ว ในเวลา   17.10 น. ที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบด้วยคะแนน 145 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 เสียง จากนั้นส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป