"ชัชชาติ" เผย หาบเร่-แผงลอยเป็นวิถีชีวิตควรต้องมี แต่ต้องเป็นระเบียบ
"ชัชชาติ" เผย หาบเร่-แผงลอยเป็นวิถีชีวิตควรต้องมี แต่ต้องเป็นระเบียบคนเดินสะดวก เล็งตั้งคณะกรรมการดูแลกันเอง หลังลงพื้นที่ตรวจสอบที่ตลาดพรานนก เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจหาบเร่แผงลอย บริเวณตลาดพรานนก เขตบางกอกน้อย ว่า หาบเร่แผงลอยเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาได้มีการยกเลิกจุดผ่อนผันไปจำนวนมาก จุดที่มาตรวจวันนี้เป็น 1 ใน 31 จุดที่อยู่ระหว่างพิจารณาลงนามเป็นจุดทำการค้า จากที่เดินสำรวจความเห็นประชาชนเช้านี้ ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรต้องมีอยู่เพราะเป็นวิถีชีวิตของทั้งคนซื้อและคนขาย แต่ปัญหาเรื่องความเป็นระเบียบของทางเดินเท้าที่คนต้องใช้สัญจร ซึ่งต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน ตามข้อกำหนดเดิมถนน 4 ช่องจราจร มีทางเดิน 2 เมตร พื้นที่ตั้งแผงหาบเร่ 1 เมตร ตีเส้นแบ่งชัดเจน ในจุดนี้ฝั่งที่ตีเส้นแบ่งเป็นระเบียบดี แต่อีกฝั่งที่ไม่ได้ตีเส้นมีการรุกล้ำอยู่บ้าง ก็ต้องขอความร่วมมือกับผู้ค้าให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด สิ่งสำคัญคือต้องให้คนเดินได้สะดวก ไม่รกรุงรัง
สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ต้องตั้งคณะกรรมการดูแลทุกจุดโดยให้ร้านค้าผู้ขาย คนเดิน และเจ้าของอาคารในพื้นที่มีส่วนร่วมช่วยกันกำกับดูแล ถ้าไม่เรียบร้อยก็ยกเลิก
ส่วนการหยุดวันจันทร์ เพื่อทำความสะอาดต้องจริงจังมากขึ้น ตามหลักการคือต้องหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน จะเป็นวันไหนแล้วแต่พื้นที่อาจไม่เหมือนกัน ต่อไปอาจพิจารณาให้หยุด 2 สัปดาห์ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่าดูแลกันได้ดีแค่ไหน ซึ่งมอบนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. ไปดูความเหมาะสม โดยจะใช้จุดบริเวณตลาดพรานนกนี้ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดระเบียบจุดอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนจุดผ่อนผันที่พิจารณาเพิ่มเติม ขณะนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) กำลังทบทวน 9 จุด และอยู่ระหว่างเจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาลงนาม 31 จุด อีกทั้ง มีแผนทำ Hawker Center ซึ่งกำลังเจรจาพื้นที่ใต้ทางด่วน และพื้นที่ว่างของเอกชน เพื่อจะนำหาบเร่แผงลอยเข้าไปอยู่ ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่เอกชนยินดีให้หาบเร่แผงลอยเข้าไปตั้งและเก็บค่าเช่าไม่แพงกำลังเร่งหาพื้นที่ที่จะผลักดันบางส่วนเข้าไป
นอกจากนี้ นายชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวอีกว่า หาบเร่แผงลอยเป็นวิถีชีวิตของคนที่มีรายได้น้อย ที่ต้องมีแหล่งซื้ออาหารราคาไม่แพง ต้องมีแหล่งให้ค้าขายที่พอเลี้ยงชีวิตไปได้ แต่สิ่งสำคัญคือคนต้องเดินได้สะดวก ต้องมีคณะกรรมการดูแลเป็นรายจุด ไม่ใช่รายเขต ให้พ่อค้าแม่ขาย คนเดิน ที่อยู่ในพื้นที่ช่วยกันดูแลเเละเพิ่มมาตรการรักษาความสะอาด ตักเตือนกันเอง ใช้พลังของคนในการกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ดูแลกันเอง ถ้าให้เทศกิจดูแลสุดท้ายไม่จบ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตลอด ถ้าดูแลกันเองรับผิดชอบร่วมกัน ก็จะอยู่ได้ระยะยาว เทศกิจไม่ต้องมานั่งจับปรับ
ส่วนเทศกิจก็ต้องโปร่งใส จะเก็บเงินค่าอะไรต้องชัดเจน จะค่าบำรุง หรือค่าปรับ ต้องมีหลักฐานชัดเจน และต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องเท่าเทียมกันทุกเขต ที่ผ่านมาไม่เป็นไร อนาคตต้องตอบสังคมได้ว่าเก็บเงินไปทำอะไร และถ้าส่วนหนึ่งนำกลับมาพัฒนาพ่อค้าแม่ค้าได้ก็ดี เช่น ทำเป็นกองทุนพัฒนาหาบเร่แผงลอย เป็นต้น