ข่าว

รองบไม่ไหวแล้ว ชาวบ้านเดือดร้อน "สะพานขาด" 3 ปี ร่วมใจลงมือซ่อมกันเอง

รองบไม่ไหวแล้ว ชาวบ้านเดือดร้อน "สะพานขาด" 3 ปี ร่วมใจลงมือซ่อมกันเอง

12 ก.ค. 2565

ชาวบ้านบ้านสุดทน ร้องสื่อหลัง ต้องทำสะพานไม้ข้ามน้ำเองนานกว่า 3 ปี หลังถูกน้ำป่าซัด "สะพานขาด" ด้านแขวงทางหลวงชนบทพะเยา แจงจะสร้างสะพานใหม่ ต้องรอ งบประมาณ ปี 67

ชาวบ้าน บ้านผาลาด หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ต้องทำการช่วยกันก่อสร้างสะพานชั่วคราว เป็นปี 3 พร้อมเรียกร้องขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในการทำสะพานข้าม ไปยังพื้นที่การเกษตร กว่า 1,600ไร่ ซึ่งก่อนหน้าเมื่อปี 2563 พื้นที่แห่งนี้เคยถูก น้ำป่าซัดสะพานข้าม ซึ่งเป็นของแขวงทางหลวงชนบทพะเยา จนขาด หลังจากนั้นพบว่ายังไม่มีหน่วยงานไหน ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการที่จะสร้างสะพานข้ามลำน้ำลาวแห่งนี้ไปยังพื้นที่การเกษตรดังกล่าว

 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รวมกันอีกครั้งเพื่อสร้างสะพานไม้ชั่วคราว หลังมีการประชุมจากหลายภาคส่วนในเรื่องของการนำสะพานเหล็กแบริ่ง แต่สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ ด้วยเพราะค่าติดตั้งสูงเกิน

 

 

 

ชาวบ้านเดือดร้อน "สะพานขาด" 3 ปี ร่วมใจลงมือซ่อมกันเอง

 

 

นายสมศักดิ์ เก่งเดชา ผู้ใหญ่บ้านผาลาด หมู่ 3  เปิดเผยว่า  สะพานแห่งนี้เดิมชาวบ้านได้ใช้สัญจรในการข้ามไปยังพื้นที่การเกษตรซึ่งมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน คือ ม.2, ม.3, ม.4, ม.8 และ ม.12 ใน ตำบลแม่ลาว ชาวบ้านที่ใช้มีมากกว่า 800 หลังคาเรือน และใช้มาอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่ในเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา บ้านผาลาด หมู่ 3 ต้องเจอกับอุทกภัยที่น้ำป่ามาอย่างรุนแรงจนซัดสะพานคอนกรีตนี้ขาดอย่างสิ้นเชิง ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรไปมาได้ 

 

 

ชาวบ้านเดือดร้อน "สะพานขาด" 3 ปี ร่วมใจลงมือซ่อมกันเอง

 

 

จากนั้นชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างสะพานไม้ชั่วคราวใช้กันเอง ถึง 5 ครั้งในระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรกที่เกิดความเสียหายนั้นทาง อบต.แม่ลาว ได้เข้ามาช่วยเหลือเพียงบางส่วนและหลังจากนั้นก็หายไปเลย ทั้งนี้ชาวบ้านต่างรอความหวังมาตลอดว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างสะพานในครั้งนี้

 

 

ชาวบ้านเดือดร้อน "สะพานขาด" 3 ปี ร่วมใจลงมือซ่อมกันเอง

 

 

และต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยาเขต 1 หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ได้เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ซึ่งทางพวกตนได้เป็นคนไปร้องเรียนและขอให้มาตรวจสอบในเวลานั้นทาง สส.เขต 1 ได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปภ.จ.พะเยา อบต.แม่ลาว แขวงทางหลวงชนบทพะเยาและอีกหลายส่วนเข้ามาร่วมการตรวจสอบเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน 

 

 

ชาวบ้านเดือดร้อน "สะพานขาด" 3 ปี ร่วมใจลงมือซ่อมกันเอง

 

 


 

 

ชาวบ้านเดือดร้อน "สะพานขาด" 3 ปี ร่วมใจลงมือซ่อมกันเอง

 

 

ต่อมาเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค.2565 ที่ผ่าน พายุชบา ได้พัดเข้ามาถล่มทำให้น้ำป่าซัดสะพานไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างจนขาดอีกครั้ง จนล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือในเรื่องของการที่จะนำสะพานเหล็กแบริ่งมาสร้างเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ชั่วคราว  ซึ่งตอนนั้นทาง หน.ปภ.จ.พะเยาได้ แจ้งกับกับพวกตนว่าค่าดำเนินการขนย้ายรวมทั้งติดตั้งครั้งแรกอยู่ที่ 2 แสนบาท ซึ่งทางนายกฯอบต.แม่ลาวก็เตรียมที่จะหางบมาช่วยในเรื่องนี้ แต่ต่อมา ได้มีทางเจ้าหน้าที่ ปภ.จ.พะเยาแจ้งมาอีกครั้งว่าค่าดำเนินการติดตั้งจากเดิม 2 แสนบาทไม่น่าจะได้แล้วเวลานี้ถูกขยับเพิ่มเป็น 4 แสนบาท ทำให้ทาง อบต.แม่ลาวไม่สามารถหางบประมาณมาช่วยในเรื่องนี้ได้ 

 

 

ชาวบ้านเดือดร้อน "สะพานขาด" 3 ปี ร่วมใจลงมือซ่อมกันเอง

 

 

ทั้งนี้ตนก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้วติดต่อไปหลายหน่วยงานเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ก็หายเงียบ หากชาวบ้านไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้  ต้องอ้อมไปอีกหมู่บ้านเพื่อเข้าพื้นที่การเกษตรซึ่งมีระยะทางกว่า 3 กม. อีกทั้งช่วงนี้เป็นการเก็บเกี่ยวข้าวโพดและชาวบ้านยังไม่รู้ว่าจะหาทางไหนขนผลผลิตออกมาเพื่อจำหน่ายด้วย ซึ่งในพื้นที่การเกษตรแห่งนี้มีทั้งการปลูกนาข้าว ข้าวโพด ไร่มะขาม และไร่มันฝรั่งอีกในพื้นที่กว่า 1,600 ไร่

 

 

ชาวบ้านเดือดร้อน "สะพานขาด" 3 ปี ร่วมใจลงมือซ่อมกันเอง

 

 

ด้านนายทวี ชิดสนิท ตัวแทนชาวบ้าน ได้กล่าวเสริมว่า ตนอยากให้ราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่มาช่วยชาวบ้านอย่างจริงจังเสียทีในเรื่องของการสร้างสะพานข้ามน้ำลาวนี้ เพราะชาวบ้านก็เหนื่อยกันมาหลายปีแล้วในการสร้างสะพานข้ามน้ำแห่งนี้ ซึ่งหากน้ำป่ามาในแต่ละครั้งค่าใช้จ่ายในการสร้างสะพานข้ามน้ำชั่วคราวนี้ก็ต้องหมดลงไปอีก ซึ่งในการสร้างสะพานข้ามแต่ละครั้งชาวบ้านต้องไปหาไม้มาทำกันเองด้วยเพราะป่าที่อยู่หลังหมู่บ้านถูกประกาศเป็นป่าสงวนโดยอุทยานแห่งชาติภูซางไปแล้ว หรือจะต้องให้ชาวบ้านแอบเข้าไปล้มต้นไม้เพื่อมาสร้างสะพานนี้อีกครั้งหากน้ำป่าซัดเข้ามาทำสะพานขาดอีก
    

 

นายธีรพงษ์  มีศรี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทพะเยา

 


ล่าสุด นายธีรพงษ์  มีศรี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทพะเยา ระบุว่า หน่วยงานของตนได้รับเรื่องนี้ไว้และได้เข้าพื้นที่สำรวจสะพานดังกล่าวพร้อมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และได้เขียนคำร้องของบประมาณในการสร้างสะพานข้ามน้ำลาวของบ้านผาลาด ม.3 นี้ไปยังกรมทางหลวงชนบทแล้ว  คาดว่าจะได้งบประมาณในส่วนของปี 2567 ซึ่งระยะทางในการสร้างสะพานจะอยู่ที่ 80 เมตร มีมูลค่าประมาณ 16 -17 ล้านบาท อีกทั้งคำร้องของหน่วยงานของตนส่งไปได้ 1 เดือนแล้ว โดยบรรจุอยู่ในแผนเป็นอันดับความเร่งด่วน เป็นอันดับ 1 ของงบประมาณสำนักงานแขวงชนบทพะเยา ตนต้องขอให้ทางชาวบ้านรอการตอบรับจากส่วนกลางอีกครั้งหากงบประมาณได้มาแล้วก็จะสามารถเริ่มสร้างสะพานข้ามน้ำนี้แห่งนี้ได้อย่างรวดเร็วแน่นอน



ศาสนพล พรหมเสน  ผู้สื่อข่าว จ.พะเยา

 

 

อัพเดทประเด็นที่เป็นกระแส กับ คมชัดลึก เพิ่มเติม ที่นี่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
Twitter - https://twitter.com/Kom_chad_luek
Instagram - https://www.instagram.com/komchadluek_online/