ยับยั้ง แต่งตั้งรองอธิการบดี ม."รามคำแหง" 30 คน
สภามหาวิทยาลัย ยับยั้ง แต่งตั้งรองอธิการบดี "มหาวิทยาลัยรามคำแหง" 30 คน ระบุ คำนึงถึงความเหมาะสม แนะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ศ.ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงกล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 ได้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อพิจารณาระเบียบวาระ สำคัญ เเต่ปรากฏว่าผู้ช่วยอธิการบดี 10 คน ทำหนังสือถึงอุปนายกสภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อทวงถาม กรณีสภามหาวิทยาลัย ชะลอการแต่งตั้งรองอธิการบดี 30 คน ตามที่มีการเสนอ ทำให้บุคคลข้างต้นไม่มีโอกาสดำรงตำแหน่งรองอธิดารบดี จึงขอเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งรองอธิการบดีทั้ง 30 คน มิเช่นนั้น ผู้ร้องขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการทางกฎหมายกับสภามหาวิทยาลัยนั้น
ในวันนั้นตนในฐานะอุปนายกสภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย และประธานในที่ประชุม ได้อธิบายให้ที่ประชุมทราบว่า เหตุที่ สภามหาวิทยาลัย ยับยั้งการแต่งตั้งรองอธิการบดี 30คน ไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2565 ก็ ไม่เคยนำเรื่องนี้ กลับเข้าสู่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอีกเลย และสภามหาวิทยาลัย ชี้แจงแล้วว่า การแต่งตั้งรองอธิการบดี 30คน จะทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีรองอธิการบดี ที่แต่งตั้งใหม่รวมกับที่แต่งตั้งไปแล้วก่อนหน้านี้รวมทั้งสิ้น 42 คน ซึ่งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน "ศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าว
ศ.ดร.สมบูรณ์ ยังกล่าวอีกว่า การที่อธิการบดีไม่ได้นำเรื่องกลับมาอีกเป็นดุลพินิจของ อธิการบดี สภามหาวิทยาลัย ไม่ได้ขัดขวางการแต่งตั้ง แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและสภามหาวิทยาลัย คำนึงถึงผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ ดังนั้น หากกลุ่มอาจารย์ดังกล่าว ต้องการเป็นรองอธิการบดี ก็ควรหารือกับอธิการบดี เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ใช้วิธีเรียกร้องสภามหาวิทยาลัยอย่างไร้เหตุผล
"การกระทำกับสภามหาวิทยาลัยเช่นนี้มีแต่จะสร้างความแตกแยกและไม่ใช่วิสัยที่วิญญูชนพึงกระทำ "อุปนายกสภามหาวิทยาลัย กล่าวและว่า ที่ประชุมมีมติส่งเรื่องดังกล่าวให้อธิการบดี ชี้แจงให้กลุ่ม ผู้ช่วยอธิการบดีดังกล่าวเข้าใจและให้คณะกรรมการจรรยาบรรณของมหาวิทยาลัยพิจารณาว่าการเรียกร้องของคณาจารย์กลุ่มนี้ ผิดจรรยาบรรณของความเป็นอาจารย์หรือไม่ และรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบต่อไป