ข่าว

จุฬาฯ - ปตท. - อินโนบิก  จับมือเตรียมผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ต้านเซลล์ชรา

จุฬาฯ - ปตท. - อินโนบิก จับมือเตรียมผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ต้านเซลล์ชรา

15 ก.ค. 2565

“ครั้งแรกของโลก” จากการที่ได้ค้นพบกลไกต้นน้ำของความชราสู่การพัฒนา “โมเลกุลมณีแดง” ซึ่งมีบทบาทในการช่วยปกป้องดีเอ็นเอและป้องกันความแก่ชราในดีเอ็นเอ โดยเมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น

วันนี้ (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565) ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ พร้อมด้วยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าว จุฬาฯ จับมือ ปตท. - อินโนบิก พัฒนางานวิจัย ‘โมเลกุลมณีแดง’ นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา เตรียมพร้อมทดสอบในมนุษย์

จุฬาฯ - ปตท. - อินโนบิก  จับมือเตรียมผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ต้านเซลล์ชรา

เพื่อแถลงความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาและวิจัยโมเลกุลมณีแดง หรือ​ RED – GEMs ที่พร้อมทดสอบในมนุษย์ และการเตรียมความพร้อมในกระบวนการผลิตโมเลกุลมณีแดงสู่สังคม โดยภายในงานมีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการวิจัยและการผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินงานโดย คณะแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด โดยมี พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อเวลา 11.00 น. ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร เผยว่า นับเป็น “ครั้งแรกของโลก” จากการที่ได้ค้นพบกลไกต้นน้ำของความชราสู่การพัฒนา “โมเลกุลมณีแดง” หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules) โดยทั่วไปในดีเอ็นเอจะมีรอยแยก (youth-DNA-gap) อยู่บริเวณที่มีดีเอ็นเอแมดทิเลชัน (DNA methylation) อันเป็นที่มาของโมเลกุลมณีแดง ซึ่งมีบทบาทในการช่วยปกป้องดีเอ็นเอและป้องกันความแก่ชราในดีเอ็นเอ โดยเมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น รอยแยกดีเอ็นเอจะลดลง ทำให้เกิดแรงตึงทั่วสายของดีเอ็นเอ ดีเอ็นเอไม่สามารถหมุนตัวได้อย่างปกติ และถูกทำลายได้ง่าย เราจึงพบรอยโรคในดีเอ็นเอของเซลล์ที่แก่ชราแล้วเยอะขึ้น ซึ่งรอยโรคดีเอ็นเอนี้จะส่งสัญญาณให้เซลล์หยุดการแบ่งตัวตามปกติและเข้าสู่ความแก่ชรา รวมถึงอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และมะเร็งได้ โมเลกุลมณีแดงคือยีนที่มีหน้าที่เป็นกรรไกรเพื่อสร้างรอยแยกดีเอ็นเอ เซลล์ที่ได้รับมณีแดงจะมีดีเอ็นเอที่แข็งแรงขึ้น และทำให้เซลล์ที่เสื่อมลงแล้วกลับมาดีขึ้น

จุฬาฯ - ปตท. - อินโนบิก  จับมือเตรียมผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ต้านเซลล์ชรา

“จากการค้นพบนำไปสู่การวิจัยและพัฒนา จนเข้าสู่การทดสอบในสัตว์คือ หนู หมู และลิง โดยได้ทดสอบกับหนูวัยชราที่มีแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้ พบว่าหนูวัยชรากลับเป็นหนูที่มีความแข็งแรงและกระตือรือร้นขึ้น ทั้งการทำงานของ สมอง ตับ และไต ในส่วนของไขมันในช่องท้องและพังผืดในตับได้ลดหายไปด้วย ด้านแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้หายดี ไม่มีผลข้างเคียง นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ทดสอบในหมูแรกเกิด และทดสอบคุณภาพเนื้อเมื่อมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม พบว่ามีเนื้อสัมผัสที่นุ่มขึ้น แน่นขึ้น ปัจจุบันโครงการได้ทดสอบในลิงแสม และหนูที่เป็นโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และปอดเป็นพังผืด ขณะนี้ได้ทดสอบมณีแดงกับลิงแสมแล้ว 3 เข็มในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จากที่วางแผนไว้ 8 เข็ม ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยลิงแสมทุกตัวปลอดภัยดี และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ” ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว

จุฬาฯ - ปตท. - อินโนบิก  จับมือเตรียมผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ต้านเซลล์ชรา

ทางด้าน ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ กล่าวว่า อินโนบิก เอเซีย มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนิเวศน์วิทยาทางธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน โดยนอกเหนือจากการลงทุนด้านยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และโภชนเภสัชแล้ว เรายังมีเป้าหมายเร่งสร้างการพัฒนานวัตกรรมของคนไทยให้เทียบเคียงได้ในระดับสากล ผ่านความร่วมมือกับเครือข่าย ทั้งนักวิจัยและมหาวิทยาลัย เพื่อต่อยอดงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นความท้าทายและต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ทั้งการวิจัยในห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางคลินิก การเตรียมความพร้อมทางด้านการผลิตในระดับอุตสาหกรรม การตลาด การขึ้นทะเบียน และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างมูลค่าของงานวิจัยให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย โดยอินโนบิก (เอเชีย) จะสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโครงการ การทำการตลาดเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งในเชิงผลลัพธ์และระยะเวลา

จุฬาฯ - ปตท. - อินโนบิก  จับมือเตรียมผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ต้านเซลล์ชรา

ทั้งนี้ มณีแดง ถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจ สามารถต่อยอดในการฟื้นฟูและป้องกันที่มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาโดยเฉพาะพันธุศาสตร์ สนับสนุนยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ต้องการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร และพัฒนาอุตสาหกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน หรือ Wellness

จุฬาฯ - ปตท. - อินโนบิก  จับมือเตรียมผลิตนวัตกรรม ‘มณีแดง’ ต้านเซลล์ชรา

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษามีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสังคม (Real-world Impact Innovation) ตลอดจนมุ่งใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการตอบสนองและบริการสังคม ด้วยการสร้างสรรค์ และบ่มเพาะองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาสังคม ทันต่อการปรับเปลี่ยนและการแข่งขันสู่มหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่ยั่งยืน นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยที่เน้นนวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม ผ่านการสื่อสารสโลแกนใหม่ของจุฬาฯ “Innovations for Society” ตอกย้ำจุดยืนที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคม สร้างสรรค์ให้สังคมดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีไปจนถึงการส่งเสริมองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ไปข้างหน้าด้วยกัน

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ซึ่งจะมีผลกระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้านสาธารณสุข ตลอดจนการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ปตท. ตระหนักถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น จึงมุ่งสร้างธุรกิจ New S-Curve เพื่อเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และส่วนร่วมนำพาประเทศให้เดินหน้าได้อย่างแข็งแรง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร Powering Life with Future Energy and Beyond ที่มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โครงการมณีแดง ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่น่ายกย่อง และควรสนับสนุนต่อยอดให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม