เนชั่นทีวี ร่วมจัดลงมติ "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" นอกสภา
เนชั่นทีวี จับมือ 3สื่อทีวี ดิจิทัล 4สถาบันการศึกษาและภาคประชาชน จัดโครงการเสียงประชาชน ลงมติ อภิปรายไม่ไว้วาง 22 ก.ค.นี้
เนชั่นทีวีร่วมมือกับสื่อทีวีดิจิตอลอีก3 ช่อง ผสานเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับ 4 สถาบันการศึกษา นัดลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจรัฐบาล คู่ขนานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านคิวอาร์โค้ด วันที่ 22 กรกฎาคม เริ่มเวลา 18.00 น.
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม
เปิดเผยถึงโครงการเสียงประชาชนลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจรัฐบาลซึ่งเป็นการริเริ่มของกลุ่มนักวิชาการจาก 4 มหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ร่วมกับ สื่อโทรทัศน์ดิจิตอล 4 ช่อง ได้แก่ เนชั่นทีวี ไทยรัฐทีวี ข่าวเวิร์คพอยท์ และพีพีทีวี จัดทำโครงการ เสียงประชาชนลงมติไว้วางใจไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ด้วยการเปิดให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทางออนไลน์คู่ขนานกับการลงมติของสภาผู้แทนราษฏร เพื่อเป็นการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย
การลงมติออนไลน์จะดำเนินการโดยสื่อโทรทัศน์ดิจิตอลที่ร่วมโครงการจะนำคิวอาร์โค้ดขึ้นหน้าจอให้ประชาชนได้ร่วมลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้ใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 11 คนแยกเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร
กติกาในการลงมติคือ
1.โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง หรือคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องจะลงมติได้เพียงหนึ่งครั้ง
2.การลงมติจะเริ่มต้นในวันสุดท้ายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม เวลา 18.00 น. โดยจะปิดการลงมติในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลาเดียวกับการปิดลงมติของสภาผู้แทนราษฎรคือประมาณ 11.00 น. จากนั้นจะมีการสรุปผลและรายงานผลไปพร้อมกับผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร
โครงการ เสียงประชาชนลงมติ-ไว้วางใจไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ดำเนินการคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ผู้ดำเนินการและสื่อโทรทัศน์ดิจิตอลที่ร่วมโครงการ มิได้มีความมุ่งหมายที่จะไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย
หากแต่ประสงค์ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ได้แสดงออกซึ่ง เสียงประชาชนที่ถึงแม้ว่าจะมิได้มีผลทางกฎหมาย และไม่ว่าผลการลงมติในสภาผู้แทนราษฏรจะเป็นเช่นไร แต่ผลที่ออกมาคือ เสียงประชาชนที่ทุกฝ่ายจะต้องรับฟัง
นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการดำเนินการให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎรโดยใช้ช่องทางออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยสะดวก จัดการได้ง่าย และทราบผลได้รวดเร็ว ซึ่งควรจะได้มีการใช้ในการส่งเสริม เสียงประชาชน ให้ดังยิ่งขึ้นในวาระอื่นๆ และเรื่องสาธารณะอื่นๆ และนำไปสู่การมี ประชาธิปไตยโดยตรง มากยิ่งขึ้นต่อไป
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - http:// http://www.komchadluek.netpublisher
Facebook - http://www.facebook.com/komchadluek
LineToday- http://today.line.me/th/v2/publisher/100057