ข่าว

เช็ก สัญญาณเตือน "ไทรอยด์เป็นพิษ" อันตรายกว่าที่คิด

เช็ก สัญญาณเตือน "ไทรอยด์เป็นพิษ" อันตรายกว่าที่คิด

18 ก.ค. 2565

ทำความรู้จัก ต่อมไทรอยด์ และที่มาของ "ไทรอยด์เป็นพิษ" เช็ก สัญญาณเดือน ไทรอยด์ ผิดปกติ พร้อมวิธีการดูแลตัวเอง

จากกรณี "ซันนี่ ยูโฟร์" อดีตบอยแบนด์ยุค 90 เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว ในคอนโดย่านทาวน์อินทาวน์ ซึ่ง ซันนี่ ยูโฟร์ มีโรคประจำตัวหลายโรค และก่อนเสียชีวิตมีอาการ "ไทรอยด์เป็นพิษ" กำเริบ เราจะมาทำความรู้จัก "ไทรอยด์เป็นพิษ" และ สัญญาณเตือน

   

"ต่อมไทรอยด์" (Thyroid Gland) เป็นต่อมไร้ท่อใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนและหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปทำหน้าที่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปธาลามัส ซึ่งการสร้างฮอร์โมนนั้นจำเป็นต้องใช้ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ หากได้รับไอโอดีนมากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้การทำงานผิดปกติและส่งผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกระบบในร่างกาย

 

ความสำคัญของฮอร์โมน ไทรอยด์ ฮอร์โมนไทรอยด์ส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้


- ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ

- สัมพันธ์กับการทำงานของสมองและระบบประสาท รวมถึงภาวะด้านอารมณ์

- ควบคุมระบบเผาผลาญและอุณหภูมิของร่างกาย

- ช่วยส่งเสริมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อ หัวใจ กระดูก

 

 

ทั้งนี้ หากร่างกายมีระดับฮอร์โมน ไทรอยด์ สูงกว่าปกติ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น โดยภาวะนี้เรียกว่า "ไทรอยด์เป็นพิษ" ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

 

อาการ "ไทรอยด์เป็นพิษ" มีอาการแสดงของโรคแตกต่างกันไป โดยมีสาเหตุดังนี้

- สร้างฮอร์โมนมากผิดปกติ

 

- ต่อมไทรอยด์อักเสบ จึงปล่อยฮอร์โมนที่เก็บไว้ออกมาเป็นจำนวนมาก

 

- ได้รับฮอร์โมนไทรอยด์มากเกิน จากยาหรือส่วนผสมในอาหารเสริมบางชนิด การรับประทานยาบางชนิด

 

- ภาวะแพ้ท้องรุนแรง หรือเนื้องอกรังไข่สร้างฮอร์โมนมากเกินไป

 

- เนื้องอกต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนกระตุ้น แต่พบได้น้อยมาก

เมื่อร่างกายเกิดภาวะ "ไทรอยด์เป็นพิษ" ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดง บางรายอาจแสดงอาการชัดเจนและเป็นรุนแรงมากจนถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของร่างกายหลายระบบพร้อมกัน โดยผู้ป่วยแต่ละรายแสดงอาการได้หลากหลาย ดังนี้

- ระบบหัวใจและหลอดเลือด : เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลว

 

- ระบบประสาท : มือสั่น หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ

 

- ระบบผิวหนัง : เหงื่อออกมาก ผิวชื้น ผมร่วง ศีรษะล้าน ผิวหนังบริเวณหน้าแข้งหนาขึ้น นิ้วปุ้มหรือนิ้ว

ตะบอง เล็บกร่อน

 

-ระบบตา : ตาโตขึ้น เปลือกตาเปิดกว้าง หรืออาจตาโปน

 

- ระบบทางเดินอาหาร : หิวบ่อย ถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน

 

- ระบบเผาผลาญ : น้ำหนักตัวลดแม้รับประทานอาหารในปริมาณปกติหรือรับประทานมากกว่าปกติ ตัวอุ่นขึ้น

 

- ระบบสืบพันธุ์ : ประจำเดือนมาผิดปกติ กะปริบกะปรอย ประจำเดือนขาด มีบุตรยาก

 

- ระบบกล้ามเนื้อ : อ่อนแรง มือสั่น

 

- คอ : คอโต บางรายอาจมีก้อนที่บริเวณคอ

 

การรักษา "ไทรอยด์เป็นพิษ" 

สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนโดยการกลืนแร่รังสีหรือผ่าตัด อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาโรคไทรอยด์ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

 

วิธีการดูแลตัวเองหาก ไทรอยด์เป็นพิษ
ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจติดตามอาการ และรับประทานยาสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไอโอดีนสูง วางแผนการคุมกำเนิดอย่างจริงจังและไม่ควรตั้งครรภ์ขณะมีอาการ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับแม่และทารก หากมีอาการผิดปกติหรืออาการกำเริบต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว


10 สัญญาณเตือน เช็กอาการ ไทรอยด์ ผิดปกติ

1. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น
ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของหัวใจทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรืออ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉงในภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ

 

2. ผมร่วง
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ทำงานต่ำสามารถเกิดผมร่วงได้

 

3. นอนไม่หลับ
อาการนอนไม่หลับมาคุกคามบ่อย ๆ ทั้งที่ปกติเป็นคนที่นอนหลับง่ายและหลับได้สนิทโดยตลอด เนื่องจากหากไทรอยด์ผิดปกติอาจหลั่งฮอร์โมนมามากเกินไปจนกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและรบกวนการพักผ่อนได้

 

4. รู้สึกง่วงตลอดเวลา
เกิดได้ในภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะเกิดอาการอ่อนเพลียไม่สดชื่นร่วมด้วย

 

5. อ้วนขึ้นหรือผอมลงอย่างผิดปกติ
ต่อมไทรอยด์ผิดปกติในลักษณะหลั่งฮอร์โมนออกมามากจะกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึมให้ขยันเกินไปในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะพบว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนในไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย เนื่องจากการเผาผลาญที่ต่ำลง

 

6. หิวบ่อยหรือไม่หิวกินไม่ค่อยลง
หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้นอาจทำให้เกิดความรู้สึกหิวบ่อยขึ้น ทานมากขึ้น แต่น้ำหนักตัวลดลง หากไทรอยด์ทำงานน้อยลงอาจกินไม่ค่อยลง บวม อ้วนง่าย

 

7. ขับถ่ายไม่เป็นปกติ
เข้าห้องน้ำน้อยกว่าปกติหรือท้องผูกบ่อย ๆ แม้จะกินพวกผัก ผลไม้ เกิดจากร่างกายมีภาวะขาดไทรอยด์ได้ ในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีการทำงานของลำไส้มากขึ้น ทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นกว่าปกติ ส่วนในไทรอยด์ต่ำอาจพบอาการท้องผูก

 

8. รู้สึกหนาวตลอดเวลาหรือขี้ร้อนมากขึ้น
ต่อมไทรอยด์ไม่หลั่งฮอร์โมนออกมาในปริมาณเพียงพอ ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ความร้อนในร่างกายก็จะลดน้อยลง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีอาการขี้ร้อน เหงื่อออกมากกว่าปกติ  ส่วนภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีอาการขี้หนาวมากขึ้น

 

9. ผิวแห้ง
ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีระบบเผาผลาญทำงานได้ช้าลงส่งผลต่อผิวแห้งมากขึ้นหรือเหงื่อลดน้อยลง

 

10. ใจสั่น
ภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปจะเร่งกระบวนการการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งหมดจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว

 

ขอบคุณที่มาข้อมูล โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลเวชธานี  

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek