ยัน "ร่างกฎกระทรวง" กำกับดูแลสหกรณ์ ช่วยเสริมความเข้มแข็งและป้องกันทุจริต
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยัน "ร่างกฎกระทรวง" กำกับดูแลสหกรณ์ที่เสนอ ครม. เป็นเกราะป้องกันให้สหกรณ์ เข้มแข็ง รักษาผลประโยชน์สมาชิกสหกรณ์ พร้อมป้องกันสมาชิกสร้างหนี้สินล้นพ้นตัว
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.ว่า "ร่างกฎกระทรวง" ดังกล่าวสืบเนื่องจาก คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.สหกรณ์พ.ศ.2562 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเสนอร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ
ต่อมาในการหารือร่วมกันกฤษฎีกาได้พิจารณาและรวมเหลือเพียงฉบับเดียวและแก้ไขชื่อ "ร่างกฎกระทรวง" เป็น ร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ...
ทั้งนี้ขบวนการหารือทั้งหมดในชั้นกฤษฎีกาได้มีการประชุมหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 10 ครั้งร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย
"ร่างกฎกระทรวง" ที่เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาขณะนี้ เป็นร่างที่ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ประธานชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด ได้รับรู้รับทราบมาโดยตลอด" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า มีการประชุมร่วมกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง และในการประชุมเมื่อ 26 มีนาคม 2564 การหารือได้เห็นพ้องต้องกันทุกประเด็นแล้ว จึงได้นำ "ร่างกฎกระทรวง" เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ร่างดังกล่าวกำหนดให้มีผลบังคับใช้แบบผ่อนคลาย บางเกณฑ์ 5 ปี บางเกณฑ์ 10 ปี เพื่อให้ระยะเวลาสหกรณ์ปรับตัว “ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
กสส.ขอชี้แจงสาระสำคัญและเหตุผลในการกำหนดร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการ และการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ...ดังนี้
1.การนับเงินฝากที่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง
1.1 การกำหนดให้เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ นับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ร้อยละ 50 เพราะว่าในระบบเงินฝากระหว่างสหกรณ์ มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย หากเกิดปัญหาสภาพคล่องในสหกรณ์บางแห่งย่อมกระทบต่อสหกรณ์แห่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยปริยายเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมการเงินเดียวกัน
1. 2 การกำหนดให้เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ นับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ร้อยละ 100 เนื่องจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินจะนำเงินมาฝากชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯเป็นหลัก โดยมีจำนวนเงินฝากต่อแห่งมีปริมาณไม่สูง และชุมนุมฯไม่ได้นำเงินไปลงทุนแต่จะนำไปให้สมาชิกกู้ยืมเป็นหลัก จึงมีความเสี่ยงต่ำ
1.3 ผ่อนปรนการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่ไว้ 5 ปี
2.การไม่นำค่าหุ้นมาพิจารณาก่อนประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนั้น เนื่องจากเงินค่าหุ้นเป็นทุนของสหกรณ์ฯ จึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เมื่อไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้ จึงไม่สามารถนำมาหักจากจำนวนหนี้ในการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ อย่างไรก็ตามเมื่อสมาชิกพ้นสภาพก็สามารถนำค่าหุ้นของสมาชิกรายดังกล่าวมาหักชำระหนี้ได้
3. หลักเกณฑ์และอัตราการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นสถาบันการเงิน มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันดังนั้นวิธีปฏิบัติทางบัญชีควรเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินกิจการของสหกรณ์นั้น ๆ ในอนาคต
หากไม่ได้รับการชำระหนี้ตามกำหนด ก็จะไม่กระทบต่อผลการดำเนินการหรือกำไรในอนาคต เนื่องจากได้ตัดเป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในปีปัจจุบันไว้แล้ว ซึ่งเป็นหลักความระมัดระวังให้เพียงพอต่อความเสียหายทางเงินที่เกิดขึ้น และจะเป็นผลดีในการส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในการบริหารจัดการของสหกรณ์ในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ "ร่างกฎกระทรวง" ดังกล่าวได้กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้สหกรณ์ฯมีเวลาปรับตัว 10 ปี
4.การไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญของสมาชิก เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ฯเกิดจากการดำเนินกิจกรรมระหว่างสมาชิกของสหกรณ์ฯเป็นหลักการ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์นั้น เนื่องจากสหกรณ์ฯจะทราบศักยภาพของสมาชิกผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมกิจการภายในของสหกรณ์ ดังนั้นข้อเสนอให้เพิ่มบุคคลภายนอกและบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ค้ำประกัน จึงอาจเกิดความเสี่ยงต่อศักยภาพและการติดตามการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน
5.การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ เพื่อคุ้มครองปริมาณเงินฝากในระบบสหกรณ์ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะตลาดการเงินและเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกผู้กู้เนื่องจากต้นทุนเงินให้กู้ลดลงส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง
6.การนำข้อมูลเครดิตมาประกอบการพิจารณาให้เงินกู้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้กู้ในการพิจารณาให้สินเชื่อได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงความเหมาะสมในการกำหนดวงเงินให้กู้แก่สมาชิก ทั้งนี้ในการอนุมัติเงินกู้ ยังอยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจให้กู้
7.การไม่อนุญาตให้นำเงินฌาปนกิจสงเคราะห์มาเป็นหลักประกันเงินกู้สามัญของสมาชิก เนื่องจากหลักประกันด้วยทรัพย์สินนั้นเป็นการเอาทรัพย์สินของตนวางไว้เพื่อเป็นหลักประกันชำระหนี้ จึงต้องมีอยู่ขณะทำสัญญากู้ด้วย เมื่อเงินประกันชีวิตหรือเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากเสียชีวิตจึงเกิดสิทธิ์เมื่อเกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไข ดังนั้นจึงไม่อาจนำมาเป็นหลักประกันได้
ทั้งนี้ กระบวนการมีส่วนร่วมของกระบวนการสหกรณ์ ต่อร่างกฎกระทรวงนั้น กรมได้มีการดำเนินการหารือด้วยกันหลายครั้งต่อเนื่อง ทั้งก่อนยกร่างและภายหลังที่ ครม.เห็นชอบในหลักการ อาทิ การประชุมรับฟังความเห็นก่อนยกร่างฯในวันที่ 2 พ.ค. 62 การเปิดรับฟังทางเว็บไซต์ของกสส.ระหว่างวันที่ 3-31 พ.ค. 62 และการเปิดประชุมทางไกลผ่านระบบVideo Conference ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 14-15 พ.ค. 62 และ 5 ก.พ. 63
กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดประชุมหารือร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับระหว่างขบวนการสหกรณ์และจากนั้น ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 90/2 เมื่อ 6 ต.ค. 63
สำหรับภายหลัง ครม.เห็นชอบหลักการได้มีการหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ประธานชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 8 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2563
ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 วันที่ 9 พ.ย. ครั้งที่ 2 วันที่ 17 พ.ย. ครั้งที่ 3 วันที่24 พ.ย. ครั้งที่ 4 วันที่ 1 ธ.ค. ครั้งที่ 5 วันที่ 14 ธ.ค. ครั้ง 6 วันที่15 ธ.ค. 2563 และครั้งที่ 7 วันที่14 ม.ค.64 ครั้งที่ 8 วันที่ 26 มี.ค. 64 และเมื่อ 26 มี.ค. 64 ที่ประชุมได้เห็นพ้องต้องกันในทุกประเด็น
จากนั้น กสส.ได้หารือกับขบวนการสหกรณ์อีกครั้งวันที่ 9 มิ.ย.64 นอกจากนั้น มีการหารือร่วมกันทุกฝ่ายต่อเนื่องอีก 4 ครั้งผ่านการประชุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาข้อสังเกตเพิ่มเติมที่ได้รับจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 19 และ 26 ต.ค. และในวันที่ 11 และ 18 พ.ย. 64
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w