"ม.รามคำแหง" ชี้แจงความจริง ทุกปมปริศนา รวมทั้ง ตั้งรองอธิการบดี เช็คเลย!
"ม.รามคำแหง"ชี้แจงความจริง ทุกปมปริศนา รวมทั้ง ตั้งรองอธิการบดี วอนใคร่ขอความเป็นธรรมในการนำเสนอข่าวสารอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทั้ง 3ประเด็น ตรวจสอบรายละเอียดได้ที่นี่
ม.รามคำแหง ชี้แจงความจริง “กรณีตั้งรองอธิการบดี”
จากการที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกี่ยวกับการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้เผยแพร่ออกไปในวงกว้างนั้น เนื้อหาของข่าวประกอบด้วย ประเด็นต่าง ๆ ๓ ประเด็น ได้แก่ การแต่งตั้งรองอธิการบดี การจัดซื้อ iPad และการไม่เข้าประชุมของอธิการบดี
มหาวิทยาลัยรามคำแหงใคร่ขอชี้แจงรายละเอียดในแต่ละประเด็น ดังนี้
1. การแต่งตั้งรองอธิการบดี ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งที่ 7/2565 วันที่ 25 เมษายน 2565 อธิการบดีได้ยื่นเอกสารเพื่อเข้าวาระ 5.20 เรื่องขออนุมัติแต่งตั้งรองอธิการบดี โดยเสนอชื่อบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นรองอธิการบดีทั้งสิ้น จำนวน 30 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นกรอบตำแหน่งที่สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติไว้ โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ในครั้งนั้นที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ร่วมกันพิจารณาแล้วมีมติให้ชะลอการแต่งตั้งรองอธิการบดีออกไปก่อน จนกว่าจะมีการอ่านคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในขณะนี้มีคำสั่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี
จำนวนรองอธิการบดีที่เสนอขอแต่งตั้งนั้นเป็นไปตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดจำนวนกรอบตำแหน่งรองอธิการบดีไว้ตามความจำเป็น ซึ่งถือปฏิบัติมาเป็นระยะเวลาหลายปีก่อนหน้านี้ เพื่อกระจายอำนาจในการบริหารจัดการสาขาวิทยบริการจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 23 จังหวัดทั่วประเทศ การบริหารจัดการในสาขาวิทยบริการฯนั้น มีพันธกิจหลักเช่นเดียวกับส่วนกลาง
ประกอบด้วย การเรียนการสอน การบริการวิชาการ การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่มอบหมายให้ดูแลโครงการ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” หรือ “U2T” ด้วยการนำองค์ความรู้จากคณาจารย์ไปช่วยเหลือประชาชนในตำบลต่างๆ ประกอบกับมีนโยบายที่จะจัดการเรียนการสอนในคณะหรือสาขาที่นักศึกษาและประชาชนต้องการศึกษาต่อเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 4 คณะสาขาวิชา ทั้งนี้ รองอธิการบดีในตำแหน่งที่เสนอแต่งตั้งนั้นไม่มีเงินประจำตำแหน่งตามที่สื่อบางฉบับระบุแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันผู้ช่วยอธิการบดีทุกคนมีสถานภาพเป็นข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับเงินเดือนประจำตามปกติอยู่แล้ว
ในปัจจุบันนี้ ผู้ช่วยอธิการบดีทั้ง 30 ตำแหน่งดังกล่าว ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากอธิการบดี หากทว่าเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ในส่วนงานของการประสานกับองค์กรภายนอก จะไม่สามารถปฏิบัติราชการ หรือตัดสินใจดำเนินการบางกรณีได้เทียบเท่ารองอธิการบดี ซึ่งส่งผลให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเสียโอกาสอันเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัย
สืบเนื่องจากมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในครั้งที่ 7/2565 วันที่ 25 เมษายน 2565 นั้น ทำให้อธิการบดีไม่สามารถยื่นเสนอรายชื่อรองอธิการบดีทั้ง 30 ตำแหน่งได้อีก โดยอธิการบดีก็มิได้นิ่งนอนใจแต่ประการใด การเข้าชื่อของผู้ช่วยอธิการบดีกลุ่มนี้จึงเกิดขึ้นด้วยหมายจะให้สภามหาวิทยาลัยได้บรรจุวาระนี้เพื่อเป็นวาระหนึ่งในการประชุม รวมถึงเพื่อทำให้การปฏิบัติราชการสะดวก และบรรลุเป้าหมาย อันยึดถือประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้ง
2. การจัดซื้อ iPad เพื่อเป็นอุปกรณ์ใช้ในการประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะกรรมการบริหารงานมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งปกติจะมีการประชุมทั้งในห้องประชุม และประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการประชุมจะมีเอกสารประกอบวาระการประชุมจำนวนมาก การจัดใช้ iPad ในการประชุมจะสามารถจัดทำเอกสารประกอบการประชุมในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษและลดภาระงบประมาณเกี่ยวกับการผลิตเอกสารประกอบการประชุมในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ การจัดซื้อ iPad สำหรับการประชุมดังกล่าว สำนักเทคโนโลยีการศึกษาได้รับอนุมัติงบประมาณโครงการพัฒนาระบบห้องประชุมออนไลน์ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารวิทยบริการและบริหาร จากคณะกรรมการบริหารงานมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.ร.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564
สำนักเทคโนโลยีการศึกษาได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามลำดับขั้นตอนจนแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งสอดรับกับนโยบายของอธิการบดีคนปัจจุบันในการขับเคลื่อนเรื่อง Smart University ส่วนขั้นตอนในกระบวนการให้ผู้บริหารยืม iPad เพื่อใช้สำหรับการประชุมออนไลน์นั้น สำนักเทคโนโลยีการศึกษาได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.ร.) เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการยืมทรัพย์สินทางราชการเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งมิใช่เป็นการดำเนินการเองโดยไม่มีระเบียบรองรับ และในการขอยืม iPad เพื่อการประชุมสำหรับผู้บริหารนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจและความต้องการของผู้บริหารท่านนั้นมิได้มีการบังคับให้ผู้บริหารทุกคนต้องทำเรื่องเพื่อขอยืมใช้เครื่อง หากกรรมการท่านใดสะดวกจะใช้ iPad ส่วนตัวก็สามารถนำมาใช้ในการประชุมได้เช่นกัน
3. กรณีการไม่เข้าประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 12/2565 ของอธิการบดี ด้วยอุปนายกสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้อธิการบดีเข้าร่วมอบรมหลักสูตร “กฎหมายมหาชนกับการบริหารงานมหาวิทยาลัย” รุ่นที่ 13 ระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร ซึ่งอธิการบดีเห็นว่าการอบรมครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการนำความรู้จากการอบรมดังกล่าวมาใช้ในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย เป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ หาได้หลีกเลี่ยงที่จะเข้าประชุมในครั้งนั้น
มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงใคร่ขอความเป็นธรรมในการนำเสนอข่าวสารอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เนื่องจากการนำเสนอข่าวสารทั้ง 3ประเด็นข้างต้นนี้ อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง และความเข้าใจผิดจากสาธารณชนต่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยใคร่ขอให้สื่อมวลชนในความรับผิดชอบของท่านพิจารณาและนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องของมหาวิทยาลัยต่อไป
ที่มา-มหาวิทยาลัยรามคำแหง
คมชัดลึก ยังมีเนื้อหาสาระอื่นๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่
Website - www.komchadluek.net
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057