พร้อมรับมือ "ฝีดาษลิง" ผลตรวจคุณภาพ "วัคซีนฝีดาษ" เเช่เเข็ง 5 เเสนโดส ออกแล้ว
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เเถลงผลตรวจคุณภาพ "วัคซีนฝีดาษ" 5 แสนโดส พบยังมีคุณภาพ หากจำเป็นใช้ป้องกัน "ฝีดาษลิง" ได้
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพ "วัคซีนฝีดาษ" คน (smallpox) ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตเก็บไว้นานกว่า 40 ปี โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศความสำเร็จในการกวาดล้างโรคฝีดาษไปจากโลกแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคฝีดาษในคนจึงได้หยุดไป
แต่เนื่องจากพบการระบาดอีกครั้งของโรคผีดาษวานร "ฝีดาษลิง" ในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิดและเตรียมการรองรับ ซึ่งพบว่ามี "วัคชีนฝีดาษ" คนที่องค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. ผลิตเก็บไว้นานกว่า40 ปี
การตรวจสอบคุณภาพวัคซีนทุกชนิดมี 5 ขั้นตอน
1. ตรวจลักษณะทางกายภาพ(Appearance test) ตรวจสอบผงแห้งและการละลายด้วยตาเปล่า
2. ตรวจวิเคราะห์ทางเคมี-ฟิสิกส์ (Physico-chemical test) ดูความเป็นกรด-ด่าง
3. ตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัย(Safety test) ดูสารก่อไข้ที่หลงเหลือ และความปราศจากเชื้อ
4. ตรวจความเป็นเอกลักษณ์(Identity test)
5. ตรวจความแรง(Potency test)
ซึ่ง "วัคซีนฝีดาษ" ที่เก็บไว้ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นเก็บในรูปผงแห้งที่อุณหภูมิองศาเซลเชียส ผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 และ 2523 จำนวน 13 รุ่นการผลิต รวม 10,000 หลอด โดยบรรจุ 1หลอด 50 โดส รวมทั้งหมด 500,000 โดส เก็บไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่ผลิตจากน้ำเหลืองของสัตว์ รูปแบบการนำมาใช้โดยการหยดลงผิวหนังและใช้เข็มสะกิดผิวให้ถลอกเพื่อให้วัคซีนซึมผ่าน
สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนตามมาตรฐานการตรวจวัคซีนในห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย
- การตรวจสอบทางกายภาพ เพื่อตรวจสอบลักษณะผงแห้งและการละลายด้วยตาเปล่า - ตรวจวิเคราะห์ทางเคมี-ฟิสิกส์
- ตรวจสอบความเป็นกรด-ด่าง
- ตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารก่อไข้และความปราศจากเชื้อ ตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ โดยวิธี RT-PCR เพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อไวรัสฝีดาษ
- ตรวจสอบความแรง เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของวัคซีนว่ามีปริมาณเชื้อไวรัสเพียงพอ
-ต่อการกระตุ้นภูมิต้านทานเพื่อป้องกันโรคได้หรือไม่
ผลการตรวจสอบ พบว่า "วัคซีนฝีดาษ" จำนวน 13 รุ่นการผลิต ยังคงมีลักษณะทางกายภาพที่ดี ลักษณะเป็นผงแห้งจับตัวเป็นก้อนสีเหลืองอ่อน นำมาละลายด้วยน้ำกลั่น กลายเป็นใสสีเหลืองอ่อน มีความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วงค่า pH 7.38- 7.52 (มาตรฐานทั่วไป pH 6.0-8.0) ปริมาณสารก่อไข้ อยู่ระหว่าง 4.20- 31.1 EU/ml (มาตรฐานทั่วไป ไม่เกิน 200 EU/mI) ไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย ผลตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ พบว่า เป็นไวรัสในกลุ่มไวรัสฝีดาษ Orthopoxvirus และวัคชีนมีค่าความแรง อยู่ระหว่าง 6.42- 6.86 LogTCIDso/ml (มาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนด ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 5.4 Log TCIDs/ml)
จึงสรุปได้ว่า "วัคซีนฝีดาษ" จากองค์การเภสัชกรรม จำนวน 13 รุ่น ยังคงมีคุณภาพตามมาตรฐานวัคชีนไวรัสทั่วไปและยังคงมีคุณค่า หากเกิดการระบาดขึ้นในประเทศและไม่สามารถจัดหา "วัคซีนฝีดาษ" มาใช้ได้ในสถานการณ์ที่มีการระบาดไปทั่วโลก วัคซีนฝีดาษที่มีอยู่นี้น่าจะนำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษวานร "ฝีดาษลิง" ได้
อย่างไรก็ตามการที่จะนำมาใช้ได้ในสภาวะฉุกเฉินนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับรวมถึงวัคซีนทางเลือกที่มี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ได้รับวัคซีน
ปัจจุบันมี "วัคซีนฝีดาษ" คน(smallpox) มี 3 รูปแบบหลักที่องค์การอนามัยโลก แนะนำ คือ
1. วัคซีนรุ่น 2 ผลิตในสหรัฐอเมริกา พบอาการข้างเคียงน้อยราย แต่รุนแรง เนื่องจากเป็นเชื้อที่เพิ่มจำนวนได้ในเซลล์ของมนุษย์ ทำให้ไม่สามารถให้กับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้เป็นโรคผิวหนังประเภทโรคเรื้อนกวางได้ ข้อบ่งใช้ โดยการใช้เข็มจุ่มวัคซีนแล้วเขี่ยบริเวณต้นแขนให้เกิดแผล จากนั้นจะเกิดตุ่มภายใน 3-4 วัน และมีหนองตกสะเก็ดใน 3 สัปดาห์ เกิดเป็นรอยแผลเป็น
2. รุ่น 3 ผลิตในสหรัฐอเมริกา เป็นเชื้ออ่อนฤทธิ์ พบอาการมีข้างเคียงเล็กน้อย สามารถให้กับประชาชนได้มากกว่า ใช้ 2 โดส ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้รับอนุญาตในการป้องกัน ฝีดาษวานร(monkeypox) "ฝีดาษลิง" โดยองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2019 หากมีความจำเป็นต้องใช้กันก็อาจจะเป็นรุ่นนี้
3. รุ่น 4 ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น เป็นวัคซีนเชื้อเป็น เกิดจากการตัดต่อยีนสามารถใช้ป้องกันโรค "ฝีดาษลิง" ได้ ใช้ 1 โดส โดยเข็มจุ่มวัคซีนแล้วเขี่ยบริเวณต้นแขนให้เกิดแผล แต่ยังไม่มีการขออนุญาตในการป้องกันฝีดาษวานร
ติดตาม คมชัดลึก ได้ที่
Instagram: https://www.instagram.com/komchadluek_online/
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w