ข่าว

พ่อแม่ "ครู" จะคุยกับ ลูก หรือ "นักเรียน" อย่างไร เมื่อโลกติดลบ?

พ่อแม่ "ครู" จะคุยกับ ลูก หรือ "นักเรียน" อย่างไร เมื่อโลกติดลบ?

22 ก.ค. 2565

เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด พ่อแม่ "ครู" จะคุยกับลูกหรือ "นักเรียน" อย่างไรเมื่อโลกติดลบและเลวร้าย บทความโดย ภก.ณภัทร สัตยุตม์ นักจิตบำบัดความคิดพฤติกรรมและนักพฤติกรรมศาสตร์

“ผมทนไม่ได้แล้ว ไม่ไหวแล้ว”

“หาทางออกไม่ได้แล้วจริง ๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร”

“ไม่มีใครเข้าใจเลย”

“ทุกคนกดดัน คาดหวัง แต่เคยถามบ้างไหมว่าต้องการอะไร”

 

เมื่อได้ยินแล้วเราคิดอย่างไร

     

หากสิ่งที่คิดคือ…“อ่อนแอจัง” “เรื่องแค่นี้เอง” “ไม่เห็นมีอะไรเลย” “คิดมากไป” “ทำไมพูดไม่รู้เรื่องสักที”

 

อยากให้ลองคิดช้า ๆ ทบทวนอีกครั้ง

เพราะเราเองอาจกำลังหันหลังให้กับเด็ก ๆ ทำให้เขาโดดเดี่ยวและหมดหวัง

กว่าเขาจะรวบรวมความกล้าที่จะพูดให้เราฟังนั้นต้องใช้ความพยายามแค่ไหน

การฟังอย่างตั้งใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาพูดจึงมีความหมายอย่างยิ่ง

เพราะคำตอบของเราอาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่พร้อมจะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายหรือทลายลงได้

และนี่คือ…10 มุมคิด พ่อแม่ และ ครู จะคุยกับ ลูก หรือ นักเรียน อย่างไร เมื่อโลกติดลบและเลวร้ายในสายตาเด็ก

 

  • 1.  เรื่องใหญ่ของเขา ไม่จำเป็นต้องใหญ่เท่าของเรา

ถ้ามันเป็นเรื่องใหญ่ มันก็คือเรื่องใหญ่ ตอนเราเป็นเด็ก การทำแก้วแตกหนึ่งใบ ทำของหายหนึ่งชิ้น ทะเลาะกับเพื่อนหนึ่งคน มันอาจจะเป็นโลกทั้งใบเลยก็ได้

 

หากเรามองด้วยสายตาผู้ใหญ่ เหตุการณ์นี้อาจจะเป็น 1 ครั้งจาก 100 ครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่สำหรับเด็กนั้นก็คือ 1 ครั้งจากสิ่งที่เคยเจอ 1 ครั้งหรือ 100% ของชีวิต เมื่อฟังเด็ก เราอาจจะต้องใช้ไม้บรรทัดของเขาในการทำความเข้าใจ เพื่อให้เราสามารถมองโลกเล็กหรือว่าใหญ่ในอัตราส่วนเดียวกัน

 

  • 2.  นี่ต่างเป็นครั้งแรกของทุกคน

“การเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ง่าย และการเป็นเด็กก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันจะง่ายก็ต่อเมื่อเราผ่านไปได้แล้ว”

 

หากเราอายุ 40 ปี มันก็เป็นอายุ 40 ปีครั้งแรกของเรา และมันก็เป็นอายุ 14 ปีครั้งแรกของเด็ก ๆ

 

ทุก ๆ วันที่เราใช้ชีวิตนั้นมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ วันใหม่ในแต่ละวันจึงเป็นครั้งแรกของกันและกัน ดังนั้นมันคือการเรียนรู้กันและกันในเวอร์ชันใหม่อยู่เสมอ วิธีที่เคยใช้ได้ในโลกเมื่อ 5 ปีก่อน อาจใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน พยายามจับมือกัน ฟันฝ่าความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน

  • 3.  ไม่เข้าใจ…แต่อยากเข้าใจ

สิ่งที่ควรทดไว้ในใจเวลาเด็ก ๆ มาปรึกษาคือ เราไม่มีทางเข้าใจเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ กับผู้ใหญ่เองก็เช่นกัน เราไม่มีทางรู้แน่ชัดว่าอะไรทำให้เขาเลือกทางเลือกแบบนั้น หรือมีพฤติกรรมแบบนั้น เพราะต่างคนต่างก็มีประสบการณ์ที่เติบโตมาไม่เหมือนกัน

 

สิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เมื่อคิดว่า “เราไม่มีทางเข้าใจเขาหรอกแต่เราอยากเข้าใจ” จะทำให้เราตั้งใจฟังและสนใจจะถามเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ถามเพื่อตัดสินว่าถูกหรือผิด

 

 

  • 4.  ไม่ต้องมีคำตอบทุกเรื่อง ไม่ต้องมีทางออกเดี๋ยวนั้นก็ได้

เมื่อได้ยินปัญหา สัญชาตญาณของทุกคนมักจะพยายามแก้ปัญหา การไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทำให้เรารู้สึกไร้ประโยชน์ แต่บางทีการรับฟังและเข้าใจก็เป็นการเยียวยาได้ ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบหรือทางออกในทุก ๆ ครั้งที่รับฟัง

 

แค่พูดว่า “ครูเข้าใจเธอมากขึ้นแล้ว ขอบคุณนะที่เล่าให้ฟัง” “ฟังแล้วยากเหมือนกันนะ คงกังวลใจ ลำบากใจน่าดูเลย”

 

การรับฟังและสะท้อนว่าสิ่งที่เขาคิดและรู้สึกนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด อาจเป็นยาใจที่ยิ่งใหญ่แล้วก็ได้ เพราะคำพูดของเราทำให้เขาสามารถยอมรับและจัดวางความรู้สึกนั้น ๆ ให้มีที่อยู่ได้ ท่ามกลางเสียงของคนทั้งโลกหรือเสียงของเขาที่บอกว่า “ไม่ควรคิดแบบนั้น ทำไมถึงคิดแบบนั้น ห้ามคิดแบบนั้น”

 

  • 5.  แย่ก็คือแย่ ไม่ดีก็คือไม่ดี ยอมรับมันให้ได้

กำหนดขนาดเพื่อตั้งหลัก มีจุดเริ่มต้นให้จัดการต่อ

เป้าหมายของการสะท้อนสิ่งที่เขาเผชิญ อาจไม่ใช่การชวนให้เด็ก ๆ มองเรื่องราวในมุมอุดมคติและพยายาม “โลกสวย” แต่คือการทำให้เขา “มองโลกตามความเป็นจริง” เราไม่ควรทำให้เขามองสิ่งที่เกิดขึ้นเล็กจิ๋วเกินจริงหรือขยายมันให้ใหญ่โต ลุกลามไปยังเรื่องอื่น ๆ ไม่รู้จบ

 

เราอาจช่วยตั้งคำถามเพื่อกำหนดขนาดของความรู้สึก ให้เขาเห็นว่ามันไม่ได้ขาว ไม่ได้ดำ ไม่ได้มีแค่ผิดหรือถูก แย่หรือดี แค่สองทางเท่านั้น แต่มีพื้นที่กลาง ๆ และมีมากมีน้อยแตกต่างกันได้

 

การกำหนดขนาดจะทำให้เราทุกข์กับสิ่งต่าง ๆ ตามขนาดที่เป็นจริง ไม่ได้ทนทุกข์ทรมานกับมันจนเกินไป เพราะการบาดเจ็บเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การที่เราจะทุกข์ทรมานกับมันแค่ไหน เราเลือกได้

 

  • 6. ความหวังนั้นสำคัญ…เราอยู่ในโลกที่เลวร้ายได้ ตราบใดที่ยังรักษาความหวังไว้อยู่

เวลาหลงทางอยู่กลางทะเลทราย คนเราอาจจะไม่ได้ตายจากการขาดน้ำ แต่อาจตายเพราะขาดความหวังว่าจะมีแหล่งน้ำอยู่ข้างหน้า การเชื่อว่าไม่มีอนาคตอีกต่อไป เราติดอยู่ในวังวนที่หาหนทางออกไม่ได้ โดดเดี่ยวไม่เหลือใคร คือปัจจัยที่ทำให้คนเราสิ้นหวัง


สิ่งที่จะช่วยทบทวนและรักษาความหวังไว้ได้คือ

  • 1. Personal สิ่งนี้จงใจหรือเจาะจงจะเกิดขึ้นกับเราคนเดียวบนโลกนี้ไหม
  • 2. Permanent สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดถาวรหรือชั่วคราว บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าถาวร เพียงเพราะเราต้องเผชิญกับมันยาวนานกว่าที่ใจเราคาดหวัง ทำให้เราไม่รับรู้ความจริงว่าทุกเรื่องนั้นเกิดขึ้นชั่วคราวและมีจุดสิ้นสุดตามธรรมชาติ
  • 3. Pervasive สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อสิ่งหนึ่งพัง จะทำให้ทุก ๆ อย่างพังตาม ๆ กันไปจริงไหม คนเรามีความสามารถในการปรับตัวไม่ว่ากับเรื่องอะไร การที่หลายสิ่งจะพังตามกันไปเช่นนั้น นั่นแปลว่าเราจะอยู่เฉยและยินยอมที่จะให้มันเกิดโดยไม่จัดการหรือปรับปรุงแก้ไขอะไร เราจะเป็นแบบนั้นจริงไหม มีอะไรที่เตรียมการไว้เพื่อป้องกันหรือบรรเทาได้บ้าง

 

  • 7. การมองบวกไม่ใช่การมองโลกเกินจริง แต่มองในทางที่เป็นประโยชน์และยังคงเกิดขึ้นจริงได้

หลาย ๆ ครั้งเราอาจจะให้คำแนะนำว่าให้คิดบวกเข้าไว้ ซึ่งการมองมุมบวกจะเป็นประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถมองเห็น “ความคิดอื่น ๆ” เป็นทางเลือกว่าจริง ๆ เรื่องนี้เราคิดได้หลายแบบ และสามารถเลือกความคิดที่เป็นประโยชน์กับชีวิตเรามากกว่าได้ โดยที่ความคิดนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

การมองให้ได้หลาย ๆ มุม และเลือกมุมที่เป็นประโยชน์ จะทำให้เด็ก ๆ สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้

 

  • 8. ไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุด มีแต่ทางเลือกที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

รับฟังเด็กๆ และชวนคิดหาทางออกจากปัญหา ด้วยการถามว่า “เรามีทางเลือกอะไรบ้างในเรื่องนี้” และ “แต่ละทางเลือกมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร” การตั้งคำถามแบบนี้จะช่วยให้เรามองเห็นว่าแท้จริงแล้วชีวิตก็มีทางเลือก แต่แค่อาจจะไม่ได้มีทางเลือกที่สมบูรณ์แบบที่สุด

 

ทุกทางเลือกมีสิ่งที่ต้องแลกหรือมีข้อเสีย เมื่อเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ มันจะไม่เหมือนข้อสอบที่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด และไม่มีทางที่เราจะได้คะแนนเต็มกับทุกสิ่ง เราทำได้แค่เลือกทางที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และจัดการกับข้อเสียนั้นให้ดีที่สุด

 

  • 9. ยืดหยุ่นที่จะคิด ทำเรื่องอื่นบ้างเพื่อเว้นวรรค และใจดีกับตัวเองให้เป็น

ชีวิตคนเรามีหลายมิติและหลายบทบาท เป็นนักเรียน เป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นนักดนตรี เป็นนักกีฬา การที่ใครสักคนบอกว่า “เราเรียนไม่ได้” ไม่ได้แปลว่า “เราเล่นกีฬาไม่ได้” ไม่ได้หมายความว่า “เราเป็นน้องที่ไม่ดี” เพราะเรายังมีอีกหลายบทบาท

 

การที่ใครบอกว่าเราเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเราจะต้องเป็นไปแบบนั้น เสียงที่สะท้อนและพูดถึงเราเปรียบเสมือนกระจก กระจกเพียงสะท้อนสิ่งที่มองเห็นจากภายนอก แต่ไม่ได้สะท้อนว่าภายในเป็นอย่างไร กระจกไม่เคยพูดออกมาว่าเรา “เราไม่ดี” แต่เราเองที่เป็นคนเห็นภาพในกระจก แล้วประเมินบอกตัวเองว่าเราไม่ดี ดังนั้นแล้วเราต้องฝึกฝนให้พูดถึงตัวเองในแบบที่ใจดีบ้าง ไม่เข้มงวดหรือดุดันเกินไป จนกลายเป็นดุด่าตัวเอง โดยอาจตั้งคำถามว่า “ถ้าเป็นเราที่ใจดีกับตัวเองพูดปลอบใจ เราจะพูดว่าอย่างไร”

 

เราห้ามความคิดไม่ได้แต่เราสามารถหยุดคิดได้ การชวนให้เด็ก ๆ ยืดหยุ่นที่จะคิดในแบบอื่น ๆ หรือหยุดคิดบ้างชั่วขณะจะช่วยให้สามาถเว้นวรรคจากความรู้สึกทุกข์ใจได้เป็นระยะ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราเพิกเฉยหรือละทิ้ง แต่แค่พัก วางมันไว้ แล้วไปทำอย่างอื่น ก่อนจะกลับมาเผชิญหน้าใหม่เมื่อพร้อม

 

  • 10. ปัญหาแรงโน้มถ่วงและสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา

ถ้าลงมือทำแล้วกลับไม่มีอะไรดีขึ้น ควรชวนเด็ก ๆ ตั้งหลักก่อนว่าอะไรบ้างที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราและอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเราอาจกำลังทุ่มแรงไปกับการแก้ไขสิ่งที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา

 

บางครั้งเด็ก ๆ อาจจะกำลังต่อสู้กับ “ปัญหาแรงโน้มถ่วง” อยู่ ซึ่งหมายถึงการพยายามไปเปลี่ยนหรือฝืนในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากหรือต้องใช้เวลามากก็ได้ บางทีเราอาจกำลังตั้งคำถามไม่ตรงกับคำตอบอยู่ก็เป็นได้ เราจัดการกับปัญหาแรงโน้มถ่วงได้ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับแรงโน้มถ่วง ไม่ใช่การกำจัดแรงโน้มถ่วง แทนที่จะถามว่า “เราจะเปลี่ยนเขาได้อย่างไร” อาจเปลี่ยนเป็น “เราจะอยู่กับคนแบบนี้ได้ด้วยวิธีไหน” ถามแบบหลังอาจจะทำให้เราพบคำตอบ มีทางให้แก้ไขและเดินต่อไปได้อย่างมีความหวัง

 

10 มุมคิดดังกล่าวเป็นแนวทางที่ใช้ “เลือกความคิด” เพื่อให้คำแนะนำในวันที่มีเด็ก ๆ มาระบายให้ฟังว่าโลกนี้โหดร้าย มองไม่เห็นอนาคต

 

การไม่เพิกเฉยและไม่พยายามผลักไส จะช่วยทำให้เรามอบทักษะการคิดแก่เด็ก ประสานความสัมพันธ์ ความรัก และความอบอุ่นเอาไว้ได้

 

ติดตามกระแสรายวัน คมชัดลึก ได้ที่

Website - www.komchadluek.net

Twitter - https://twitter.com/Kom_chad_luek