ผลเป็นลบ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง "ฝีดาษลิง" 19 ราย ใกล้ชิดผู้ป่วยชาวไนจีเรีย
สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต รายงานผลตรวจ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 19 ราย ใกล้ชิดชาวไนจีเรียติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" รายเเรก พบผลเป็นลบ
นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร "ฝีดาษลิง" รายแรกของไทยที่จังหวัดภูเก็ตว่า ผลจากการเก็บตัวอย่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (High-Low risk contact) จำนวน 19 ราย ไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลตรวจออกมาแล้วเป็นลบแล้วทั้ง 19 ราย เเต่จะต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะโทรศัพท์สอบถามอาการทุก 7 วัน 14 วัน และ 21 วัน และในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเมื่อครบการกักตัว 21 วันแล้ว จะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่ง
สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยังขอความร่วมมือประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคฝีดาษวานร "ฝีดาษลิง" ติดต่อกันได้ยากกว่า โควิด19 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับผู้ที่มีอาการโรคฝีดาษวานร "ฝีดาษลิง" ซึ่งมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว รวมทั้งการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การป้องกัน "ฝีดาษลิง" ทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ระวังสัตว์กัดหรือข่วน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแนวทางเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร "ฝีดาษลิง" หลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เป็นระดับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับข้อมูลวัคซีนโรคฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมได้เก็บรักษาไว้ตามมาตรฐานเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาทดสอบ พบว่า ยังมีคุณภาพดี หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งการรักษาพยาบาล "ฝีดาษลิง" ไม่มียารักษาเฉพาะ จึงใช้การรักษาตามอาการ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek