นักวิชาการ ห่วง "กลุ่มเสี่ยง 608" ติดเชื้อโควิด19 ช่วงพีค ส.ค.-ก.ย.
นักวิชาการ ชี้ ผู้ติดเชื้อโควิด19 เพิ่มหรือลดลง แต่การตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ ห่วง "กลุ่มเสี่ยง 608" ติดเชื้อฯเพิ่ม
สถานการณ์ โควิด-19 เดินทางผ่านระลอกแล้วระลอกเล่า จนคาดกันว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2565 จะมีตัวเลข ผู้ติดเชื้อ เพิ่มสูงสุดในรอบปี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะเทคนิคการแพทย์ ประกาศพร้อมเคียงข้างประชาชน เตรียมสแตนด์บายพร้อมปฏิบัติการลงพื้นที่เชิงรุก ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ เพิ่มเติมบริการตรวจ RT-PCR และ ATK ให้ประชาชนทั่วไป
ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการพัฒนา Ecosystem สาขาเครื่องมือแพทย์(Medical Devices) โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย(Reinventing University) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบาย ในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ โดยเน้นการใช้ประโยชน์สู่ประชาชน และการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อ ลดการนำเข้า โดยที่ผ่านมา ได้มีความพยายาม ที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนเตรียมความพร้อม ให้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ในการพัฒนาเครื่องแพทย์ต่างๆ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้เปิดให้บริการห้องปฏิบัติการ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ ป้องกันการติดเชื้อ อาทิ ชุด PPE และพัฒนาชุดตรวจ ATK ตลอดจนให้บริการประชาชน ในการตรวจคัดกรอง ทั้งด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ชนิด Professional Use ทั้งในวันธรรมดา และวันหยุด
ตามที่คาดกันว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 โควิด-19 จะกลับมาระบาด จนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด ในรอบปีนั้น ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า แม้ COVID-19 จะอยู่ในช่วงที่ระบาดเพิ่มขึ้น หรือไม่การตรวจคัดกรอง ด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น
คมชัดลึก ยังมีเนื้อหาสาระอื่นๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่