ข่าว

"ศาลปกครองเชียงใหม่" ยกฟ้อง คดีรื้อ "บ้านป่าแหว่ง" ชี้ก่อสร้างถูกกฎหมาย

"ศาลปกครองเชียงใหม่" ยกฟ้อง คดีรื้อ "บ้านป่าแหว่ง" ชี้ก่อสร้างถูกกฎหมาย

27 ก.ค. 2565

"ศาลปกครองเชียงใหม่" ยกฟ้องคดีขอรื้อถอน "บ้านป่าแหว่ง" ริมดอยสุเทพ ชี้ "กรมธนารักษ์" อนุญาตสำนักงานยุติธรรม สร้างบ้านตุลาการ ไม่รุกป่าสงวน ทำตามขั้นตอนกฎหมาย

27 ก.ค.2565  ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายสุวิทย์ รุ่งวิสัย ซึ่งอ้างเป็นผู้มีหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยื่นฟ้องกรมธนารักษ์  ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนและให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปรับปรุงพื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ชม.1723 (บางส่วน) ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 30ตารางวา ที่กรมธนารักษ์อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมก่อสร้างอาคารที่ทำการศาล บ้านพักตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือที่รู้จักในคดี "ป่าแหว่ง" ให้กลับมามีสภาพดังเดิม  

 

 

 

 

 

 

 

ศาลปกครองเชียงใหม่ ยกฟ้องคดีบ้านป่าแหว่ง

 

 

โดยศาล เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาททั้งแปลงอยู่นอกแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ และนอกแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย อำนาจอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเป็นอำนาจของกรมธนารักษ์ ซึ่งขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่แปลงพิพาท

 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าที่ราชพัสดุแปลงพิพาท แม้มีสภาพเป็นป่าที่ลาดเชิงเขา บางส่วนเป็นที่สูงชันอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ลุ่มน้ำปิง-วัง) แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวมิได้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทจึงไม่อยู่ในบังคับพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507  และพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 อีกทั้ง พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ชั้น 3 และชั้น 4 สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉบับดังกล่าว และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อนเริ่มโครงการตามข้อ 14 (1) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 

 

 

 

 

ศาลปกครองเชียงใหม่ ยกฟ้องคดีบ้านป่าแหว่ง

 

 

ดังนั้น การพิจารณาอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ราชพัสดุแปลงพิพาทจึงเป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ข้ออ้างที่ว่าการพิจารณาอนุญาตของกรมธนารักษ์เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ50 มาตรา 67 วรรคสอง ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และยังฟังไม่ได้ว่าการที่กรมธนารักษ์อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักตุลาการและบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

เมื่อสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าวก็ชอบที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้การก่อสร้างอาคารดังกล่าวสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ข้ออ้างที่ว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นเหตุให้มีการโค่นต้นไม้ ทำลายป่า ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ป่าแหว่ง อันเป็นการทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ป่าไม้ที่สวยงามตามธรรมชาติและมีผลกระทบต่อลำห้วยแม่ชะเยือง จึงไม่อาจรับฟังได้  

 

และเมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่กรมธนารักษ์อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาท  จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของนายสุวิทย์ผู้ฟ้องคดี  ผู้ถูกฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดชอบดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี "พิพากษา ยกฟ้อง" 

 

ปัจจุบันโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พื้นที่ราชพัสดุ 147ไร่ ริมดอยสุเทพ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีการส่งมอบพื้นที่คืนให้กับกรมธนารักษ์แล้ว

 

 

รายละเอียดคำพิพากษา คลิกที่นี่

 

ติดตาม คมชัดลึก คลิก
Instagram: https://www.instagram.com/komchadluek_online/
Line: https://lin.ee/qw9UHd2