ชาวสวนสุดภูมิใจ "ส้มโอปราจีน" ขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้วหลังยื่นคำขอปี 2561
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ สินค้า GI "ส้มโอปราจีน" แล้ว หลังเจ้าของสวนยื่นขอจดทะเบียนเมื่อปี 2561
28 ก.ค.2565 เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับชาวสวน ส้มโอ ในจังหวัดปราจีนบุรี หลังจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศเรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ สินค้า GI ส้มโอปราจีน เลขที่ สช 65100177 ข้อความระบุว่า
"เพื่อให้การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นไปตามพระราชบัญญัติผู้คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์พ.ศ 2546 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ 5)พ.ศ 2545 กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ขึ้นทะเบียนซึ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มโอปราจีนคำขอเลขที่ 61100197 ทะเบียนเลขที่สช 65100177 ซึ่งมีรายการทะเบียนตามบัญชีแนบท้ายประกาศฉบับนี้
ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันยื่นคำขอขึ้นทะเบียน 16 พฤศจิกายน 2561 ประกาศ ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2565
สำหรับ ส้มโอปราจีนบุรี นั้น เป็นหนึ่งในแหล่งเพาะปลูกส้มโอที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า "ศรีมหาโพธิคู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเรื่อง เขตเมืองทราวดี" ส่วนชื่อเสียงของส้มโอปราจีนบุรี มีมานานกว่า 40 ปี โดยในงานวันเกษตรปราจีนบุรีที่มีการจัดขึ้นทุกปีก็ได้มีการนำส้มโอปราจีนบุรีไปแสดงและจำหน่ายภายในงานดังกล่าวจึงทำให้เห็นว่าส้มโอปราจีนเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาเป็นเวลานานประกอบกับส้มโอปราจีน มีผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 90% จะส่งออกไปยังต่างประเทศเช่นจีน ไต้หวัน เวียดนามเป็นต้น ซึ่งในแต่ละปีไม่เพียงพอต่อการส่งออก โดยคิดเป็นยอดการส่งออกเป็นเงินมากกว่าร้อยล้านบาทต่อปี
จากนั้นทางผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปพบคนต้นเรื่องที่ยื่นขอเอกสารสิทธิ์ GI ของจังหวัดปราจีน ชื่อคุณ นิตย์ ไพเราะ อายุ 48 ปี ชาว ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี หรือ พี่กุ้ง ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ตนออกจากงานประจำเมื่อปี 2561 ก็เห็นแล้วว่าตั้งแต่สมัยพ่อแม่ที่ทำสวนส้มโอมานั้น จะมีคนมารับแล้วก็ส่งส้มโอไปที่จังหวัดอื่นจึงทำให้ตนคิดว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น เพาะส้มโอเราก็ปลูกเองทำไมต้องส่งไปให้คนอื่นใช้ชื่อใช้แบรนด์เป็นของจังหวัดนั้น ๆ โดยไม่ใช่สวนไม่ใช่ชื่อ ส้มโอปราจีนบุรี ตนก็เลยไปศึกษาและจึงได้รู้เรื่องของคำว่า GI
โดยคำว่า GI นั้นเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ว่าผลไม้ที่ปลูก ณ จุดไหนจะบ่งบอกรสชาติของพื้นที่หรือจังหวัดนั้นๆ หมายความว่ารสชาติจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญสุดและเป็นจุดเด่นของส้มโอปราจีนบุรีนั้นคือเมื่อตัดออกจากต้นสามารถปอกและรับประทานได้เลยไม่ต้องปล่อยไว้ให้รอลืมต้น
โดยตนยื่นเอกสารขอเอกสารสิทธิ์ GI หรือทรัพย์สินทางปัญญาไปตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งตนเป็คนยื่นขอด้วยตัวเอง มาประสบความสำเร็จได้รับใบประกาศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ซึ่งใช้ระยะเวลานานมาก แต่ก็นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในกลุ่มชาวสวนส้มโอปราจีนบุรีว่าหากใครนำไปขายก็ต้องใช้ชื่อว่าส้มโอปราจีน
พี่กุ้ง ยังบอกอีกว่าส้มโอปราจีนที่ขอ GI ไปไว้ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ โดยมีส้มโอพันธ์ทองดี โดยในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีนั้นปลูกพันธุ์นี้ประมาณ 99% โดยทำการส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่เพราะส้มโอพันธุ์ทองดีนั้นทางตลาดของประเทศจีนชอบมาก เนื่องจากว่าเนื้อของส้มโอเป็นสีชมพูเป็นสีมงคล ส่วนสายพันธ์ที่ 2 จะเป็นขาวน้ำผึ้ง ก็จะเป็นอีกสายพันธุ์ที่ปลูกในพื้นที่ประมาณ 1% เนื่องจากว่าส้มโอสายพันธุ์นี้มีการดูแลรักษาค่อนข้างที่จะยาก คุณภาพไม่ค่อยที่จะตรงตามที่ตลาดต้องการจึงมีคนปลูกน้อย และอีกสายพันธุ์คือส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ จะมีอัตลักษณ์ของส้มโอพันธุ์นี้คือขาวใหญ่ มีขนาดใหญ่สุดนี่สามารถชั่งได้ถึง 6.5 กิโลกรัมต่อลูก เป็นส้มโออีก 1 สายพันธุ์ที่ส่งออกสู่ตลาดเป็นที่ชื่นชอบและยอดการสั่งซื้อดี ซึ่งส้มโอสายพันธุ์นี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและคนที่ต้องการลดน้ำหนัก และส้มโออีก 1 สายพันธุ์คือส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ก็จะมีชาวสวนส้มโอปราจีนในพื้นที่ปลูกน้อยเนื่องจากว่ายังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับส้มโออีก 3 สายพันธุ์แรกที่กล่าวมา
ภาพ/ข่าว สายชล หนแดง ดิเรกฤทธิ์ แสงสุวรรณ/ ปราจีนบุรี
Instagram: https://www.instagram.com/komchadluek_online/
Line: https://lin.ee/qw9UHd2