กองปราบจับอดีต "ทหาร"ยศสิบเอก ก่อเหตุหลอกให้ร่วมลงทุนอ้างให้ผลตอบแทนสูง มีผู้หลงเชื่อกว่า 50 คน และยังพบว่าปลอมเอกสารเพื่อไปเช่ารถยนต์หรู ก่อนนำไปขายต่อ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 91 ล้านบาท
ตำรวจกองปราบปราบจับนายเจษฎา หรือ นายกฤชนนท อายุ 26 ปี อดีต "ทหาร" ยศสิบเอก ที่เป็นผู้ต้องหาหลอกใช้เอกสารปลอมตระเวนเช่ารถยนต์หรู แล้วนำไปขายหรือจำนำต่อ ก่อนที่จะนำไปหลอกให้ลงทุนแลกกับผลตอบแทน ร้อยละ 6% มูลค่าความเสียหายมากกว่า 91 ล้านบาท
พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผู้บังคับการ 4 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ ปอศ. เปิดเผยว่า คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2563 ผู้ต้องหาเป็นทหารที่หลอกให้เพื่อนร่วมงานมาลงทุนโดยเสนอผลตอบแทนร้อยละ 6 ต่อเดือน มีคนหลงเชื่อกว่า 50 คน มาแจ้งความแล้ว 21 คน มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 15 ล้านบาท โดยวิธีการหลอกลวงก็เหมือนเดิม เมื่อหมุนเวียนเงินไม่ทันก็จะหลบหนี ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายจนสามารถขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในความผิดฐานฉ้อโกง และกู้ยืมเงินเพื่อการฉ้อโกง
ขณะที่พ.ต.ท.สุรเชษฐ์ เดชะพันธ์ รองผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม เปิดเผยว่า มีผู้เสียหายเป็นเจ้าของเต้นท์รถยนต์หรู 3 ราย มาแจ้งความกับตำรวจหลังพบว่าถูกผู้ต้องหามาเช่ารถยนต์หรูโดยใช้เอกสารปลอม ก่อนนำไปขายต่อ โดยพบว่ามีการเช่ารถหรูรวม 12 คัน มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 76 ล้านบาท
โดยผู้ต้องหาจะสืบหาว่ารถยนต์คันที่เช่าเป็นของบุคคลใด จากนั้นจะพาคนที่มีเครดิตไปเช่ารถยนต์หรูตามเต้นท์รถต่างๆ แล้วจะปลอมบัตรประชาชน โดยใช้ใบหน้าของตัวเองใส่ในบัตรและเปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าของรถ ก่อนที่จะนำไปขายให้กับเต้นท์ โดยที่จะเลือกรถยนต์หรูที่มีราคาสูง เมื่อได้เงินมาแล้วบางส่วนก็จะนำไปหมุนเวียนจ่ายให้กับบุคคลที่มาร่วมลงทุน เพื่อที่จะให้ไปบอกต่อให้มาร่วมลงทุนและหลอกลวงกันต่อเนื่อง
เบื้องต้น พบว่ามีผู้ร่วมขบวนการคือคนที่พามาเช่ารถ และกำลังสืบสวนต่อว่ามีผู้ใดร่วมขบวนการเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ก็พบว่าผู้ต้องหาจะตามหาลูกค้ารายใหม่ไปเรื่อยๆ
ด้านพล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ติดตามรถยนต์ของกลางมาได้แล้ว 9 คัน และยังพบว่าผู้ต้องหามีวิธีการเช็คเจ้าของรถยนต์ และทำเอกสารปลอมประมาณ 30 นาที ก่อนไปก่อเหตุ และหากเต้นท์รถไหนไม่รับซื้อรถก็จะเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ
แต่ตามกฎหมายการซื้อขายรถยนต์ที่มีมูลค่าสูง ก็ต้องมีเอกสารครบ ทั้งรูปเล่มและเอกสารการครอบครองรถยนต์ ต้องไปตรวจสอบว่าเต้นท์รถไหนมีการซื้อขายอย่างถูกต้องหรือไม่ หากผิดก็จะเข้าข่ายรับของโจร ซึ่งหากเจ้าของรถตัวจริงมาติดตามรถยนต์คืน หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องไปฟ้องร้องกันที่ศาล
นอกจากนั้นยังเชื่อว่าบางส่วนถูกนำไปขายในตลาดมืด ราคาคันละไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านบาท ซึ่ง 12 คัน ที่พบว่าถูกนำไปขายมูลค่ารวมกว่า 76 ล้านบาท และพบเงินหมุนเวียนมนบัญชีผู้ต้องหามากกว่า 200 ล้านบาท แต่ไม่มีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชี เนื่องจากผู้ต้องหาอ้างว่านำไปใช้จ่าย และบางส่วนนำไปจ่ายค่าตอบแทนให้กับกลุ่มทุน
ส่วนคดีที่พ่อของผู้ต้องหาลักพาตัวออกมาจากเรือนจำในค่ายทหารที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นคดีฉ้อโกงเงินของทางราชการ ที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร ซึ่งถูกดำเนินคดีไปแล้ว แต่ยังไม่พบว่าพ่อของผู้ต้องหามีความเชื่อมโยงกับการก่อเหตุฉ้อโกง
ด้านผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทรถเช่า เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ต้องหาก็เคยเช่ารถและคืนตามปกติเป็นเวลากว่า 2 ปี จนมีความเชื่อใจกัน แต่ระยะหลังเริ่มออกลายคือไม่ยอมคืนรถให้ง่ายๆ ซึ่งในส่วนบริษัทของตนก็มีรถประมาณ 10 คันที่เคยหมุนเวียนให้เช่าอยู่ ซึ่งผู้ต้องหาก็ได้นำไปจำนำต่อให้กับเต้นท์รถ และพยายามตามรถคืนมาได้เกือบครบ ยังเหลืออีก 2 คัน ที่ยังตามคืนมาไม่ได้
อีกทั้งยังเชื่อว่าผู้ต้องหาได้ต่อยอดไปหลอกลวงผู้เสียหายรายอื่น โดยอ้างว่าทำธุรกิจรถเช่า สร้างความเชื่อถือให้กับเหยื่อรายอื่นอีก