ดับแล้ว 2 ราย เหตุ"สะพานกลับรถ"ถล่ม ย่านพระราม 2 จนท.เร่งหาสาเหตุ
เหตุ"สะพานกลับรถ"ถล่ม ย่านพระราม 2 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ผวจ.สมุทรสาคร สั่งผู้เกี่ยวข้องหาสาเหตุ เผย สะพานดังกล่าวเคยเกิดเหตุ รถบรรทุกน้ำมันระเบิด ทำให้โครงสร้างสะพานชำรุดเสียหาย
จากเหตุการณ์ แผ่นปูนหนัก 5 ตัน บน"สะพานกลับรถ" ถล่มทับรถยนต์เสียหายรวม 3 คัน เหตุเกิดบริเวณ"สะพานกลับรถ"หน้าโรงพยาบาลวิภาราม กม.ที่ 34 ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างการปิด"ซ่อมบำรุง" พังถล่มลงมาทับรถยนต์ที่สัญจรอยู่บนถนนพระราม 2 ช่องทางด่วน ขาเข้ากรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.ของวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
จุดที่เกิดเหตุเป็นบริเวณใต้สะพานกลับรถ "เกือกม้า" พบรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อเชฟโรเลต ทะเบียน ชธ 6271 กรุงเทพมหานคร ถูกแผ่นปูนความยาวกว่า 10 เมตร น้ำหนักราวๆ 5 ตัน หล่นลงมาทับไว้ทั้งคันจนรถขาดท่อน ทำให้คนนั่งข้างฝั่งซ้ายเสียชีวิตติดอยู่ภายใน (ยังไม่ทราบชื่อ) ส่วนคนขับรถเก๋งได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งยังมีรถกระบะ ยี่ห้ออีซูซุดีแมคซ์ ทะเบียน 3ฒธ 5940 กรุงเทพมหานคร ด้านหน้ารถถูกแผ่นปูนทับไว้ โชคดีที่คนขับและผู้อาศัยมาในรถปลอดภัยทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีคนงานที่กำลังทำงานซ่อมแซมอยู่บน"สะพานกลับรถ" ซึ่งตกลงมาพร้อมกับแผ่นปูน ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 2 คน แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีรถที่ได้รับความเสียหายอีก 1 คัน เป็นรถบรรทุกน้ำมันดีเซลที่ไปลงน้ำมันให้กับลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็สร้างความสะเทือนขวัญให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลทำให้การจราจรติดขัดเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร ส่วนรถเก๋งที่ถูกแผ่นปูนทับไว้นั้น หลังจากที่ได้ใช้อุปกรณ์ตัดถ่างนานเกือบ 1 ชั่วโมง เพื่อนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาจากซากรถได้แล้ว ก็ต้องประสานรถเครนให้มายกแผ่นปูนออก
หลังเกิดเหตุ นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่มาติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งหาสาเหตุครั้งนี้
สำหรับ"สะพานกลับรถ" แห่งนี้ เริ่มปิดทำการ"ซ่อมบำรุง"ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 โดยเหตุที่ต้องทำการปิด"ซ่อมบำรุง" เนื่องจาก"สะพานกลับรถ"แห่งนี้ มีอายุการใช้งานมานาน และเคยเกิดไฟไหม้ขึ้นบนสะพาน เนื่องจากรถบรรทุกน้ำมันระเบิด อีกทั้งยังมีปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้"สะพานกลับรถ"เป็นจำนวนมาก ทำให้โครงสร้างส่วนบนชำรุดเสียหาย จนเหล็กเส้นโผล่