ข่าว

"คปภ." แจ้งจับ คนโกง "ประกันภัย" ล็อตแรก 22 คน ชูระบบAI วิเคราะห์แม่นยำ

"คปภ." แจ้งจับ คนโกง "ประกันภัย" ล็อตแรก 22 คน ชูระบบAI วิเคราะห์แม่นยำ

03 ส.ค. 2565

สำนักงาน คปภ. บังคับใช้กฎหมายจริงจัง เดินหน้าแจ้งความตำรวจเอาผิดผู้กระทำความผิดฐานการฉ้อฉลประกันภัย จำนวน 22 ราย พร้อมใช้เทคโนโลยี AI ตรวจจับพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ได้มอบหมายให้ นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบ.ปอศ.) หรือ ตำรวจ ECD ให้ดำเนินกับผู้กระทำความผิดด้านประกันภัย จำนวน 22 ราย โดยแบ่งฐานความผิด ดังนี้

- รายที่1-2  ในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริต โดยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง จำนวน 2 ราย 

- รายที่ 3 ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก หลอกลวงขายกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนา 2019 ข้อหาทุจริตหรือโดยหลอกลวง และเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงมีการแอบอ้างและใช้ชื่อเพื่อแสดงว่าตนเป็นบริษัทประกันภัยหรือเป็นตัวแทนประกันภัย เพื่อชักชวนชี้ช่องให้ประชาชนทำกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนา 2019 และปลอมแปลงและใช้หนังสืออนุญาตว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตการขึ้นทะเบียนกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ และกระทำการปลอมแปลงและใช้ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต 

- รายที่ 4 คือ บริษัท ซีเอสที 2019 (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหา กระทำการแอบอ้างและใช้ชื่อเพื่อแสดงว่าตนเป็นบริษัทประกันภัย หรือเป็นตัวแทนประกันภัย และกรณีกระทำการฉ้อฉลประกันภัย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย

-รายที่ 5-22 ปลอมเอกสารและใช้เอกสารเพื่อเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย และความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 , 268  
 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดด้านประกันภัยในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กฎหมายตามพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 โดยกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยไว้ 3 กรณี ได้แก่ กรณีแรก มีการหลอกลวงให้ผู้อื่นทำประกันภัย กรณีที่ 2 เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเป็นเท็จ และกรณีที่ 3 ให้เรียกรับ ทรัพย์สิน เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 

 

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. เปิดช่องทางให้บริษัทส่งรายงานการฉ้อฉลประกัยภัยเป็นรายไตรมาส ผ่านทางเว็บไซต์ที่สำนักงาน คปภ. โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย โดยในแต่ละประเภทจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พฤติกรรมที่เป็นการฉ้อฉลประกันภัยและพฤติกรรมที่อาจจะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย เช่น กรณีที่บริษัทเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นฉ้อฉลประกันภัย บริษัทสามารถรายงานเข้ามาในระบบโดยแบ่งประเภทเป็น ประกันภัยรถยนต์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุต่าง ๆ เพื่อให้สำนักงาน คปภ. ทำการตรวจสอบ และเมื่อมีการรายงานผ่านระบบฉ้อฉลประกันภัย ระบบดังกล่าวจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกโดยใช้ (Artificial Intelligence : AI) มาประมวลผลพฤติกรรม จากนั้นจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลักฐานที่ปรากฏ หากเห็นว่ามีประเด็นที่จะต้องให้คณะกรรมการกลั่นกรองคดีฉ้อฉลประกันภัยพิจารณาก็จะนำเข้ามาสู่วาระพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป ดังนั้น จึงฝากเตือนผู้ที่คิดจะทำการความผิดฉ้อฉลประกันภัยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีนโยบายบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่   

(https://awards.komchadluek.net/#)

\"คปภ.\" แจ้งจับ คนโกง \"ประกันภัย\" ล็อตแรก 22 คน ชูระบบAI วิเคราะห์แม่นยำ \"คปภ.\" แจ้งจับ คนโกง \"ประกันภัย\" ล็อตแรก 22 คน ชูระบบAI วิเคราะห์แม่นยำ