ข่าว

ด่วน ผลตรวจ "ฝีดาษลิง" ชายชาวฝรั่งเศสออกแล้ว ยืนยันติดเชื้อแค่ 4 ราย

ด่วน ผลตรวจ "ฝีดาษลิง" ชายชาวฝรั่งเศสออกแล้ว ยืนยันติดเชื้อแค่ 4 ราย

08 ส.ค. 2565

ด่วน ผลตรวจ "ฝีดาษลิง" ชายชาวฝรั่งเศสอายุ 32 ปี ออกแล้ว หลังเจออาการเข้าข่ายหลายอย่าง ยืนยันไทยติดเชื้อแค่ 4 ราย

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีนักท่องเที่ยวชายสัญชาติฝรั่งเศส อายุ 32 ปี เดินทางมาเที่ยวจังหวัดตราดเมื่อเดือนที่ผ่านมา และมีอาการผิดปกติระบบทางเดินปัสสาวะ มีตุ่มขึ้นที่อวัยวะเพศ ซึ่งสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" จึงไปพบแพทย์จนอาการดังกล่าวหาย ต่อมาพบตุ่มขึ้น   ที่มือ จึงเดินทางเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลตราด จากนั้นโรงพยาบาลตราดได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยืนยันไม่พบเชื้อ "ฝีดาษลิง"

ส่วน สถานการณ์ "ฝีดาษลิง" ในขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในแถบทวีปยุโรปและอเมริกา ในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด    (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโ รคฝีดาษวานรยืนยันทั่วโลก จำนวน 28,792 ราย เสียชีวิต 6 ราย (สเปน 2 ราย บราซิล เปรู กานา อินเดีย ประเทศละ 1 ราย) ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วม ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับ แรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 7,510 ราย สเปน 5,208 ราย เยอรมัน 2,887 ราย อังกฤษ 2,768 ราย และฝรั่งเศส 2,423 ราย  ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยยังพบผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย มีรายงานผู้เข้าเกณฑ์ป่วยเป็นผู้ป่วยสงสัย 36 ราย ผู้สัมผัส 44 ราย ครบการกักตัวแล้วทั้งหมด 7 ราย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้ง 35 ราย ไม่พบเชื้อ "ฝีดาษลิง" รอผล 1 ราย 
          

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค และด่านควบคุมโรคติดต่อท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด  นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากพบผู้ที่มีอาการตุ่มฝีตุ่มหนองขึ้นตามอวัยวะต่างของร่างกาย ให้รีบส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และหากผลเป็นบวก ติดเชื้อ จะรีบเข้าไปควบคุมกลุ่มเสี่ยงไม่ให้แพร่กระจายเชื้อต่อทันที

ขอเน้นย้ำว่า โรค "ฝีดาษลิง" ไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย ซึ่งแนวทางวิธีการป้องกันตัวจาก โรค "ฝีดาษลิง" ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดโอกาสการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำมูกของผู้ป่วย หรือสัตว์ติดเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ไม่รู้จัก ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก   และรับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด หากประชาชนมีความเสี่ยง มีการสัมผัสกับผู้ป่วย โรคฝีดาษวานร หรือมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด มีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านได้ทันที