รับอาสาสมัครปลูก "ฝีดาษลิง" อายุ 40-50-60 ปี ทดสอบหาภูมิคุ้มกันในร่างกาย
รับอาสาสมัครปลูก "ฝีดาษลิง" ช่วงอายุ 40-50-60 ปี ทดสอบหาภูมิคุ้มกันสามารถป้องกันได้ 85 % จริงหรือไม่ หลังเลิกปลูกมานานกว่า 40 ปี
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงโรค "ฝีดาษลิง" ว่าพบผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย เป็นสายพันธุ์ A.2 จำนวน 3 ราย และ B.1 จำนวน 1 ราย โดยทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ไม่ใช่สายพันธุ์แอฟริกากลาง ทำให้โรคมีความรุนแรงน้อย สามารถเพาะเชื้อฝีดาษลิงได้จำนวนมากพอที่จะนำมาทดสอบกับผู้ที่เคยปลูกฝีป้องกัน ฝีดาษ ในอดีต ซึ่งเลิก ปลูกฝี ไปแล้วกว่า 40 ปี โดยจะรับอาสาสมัครประมาณ 30-40 คนในช่วงอายุ 40 ปี 50 ปี และ 60 ปี ประมาณช่วงอายุละ 10 คน เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลสำหรับประเทศไทยว่าผู้ที่ ปลูกฝี ในแต่ละช่วงอายุมีภูมิคุ้มกันต่อ "ฝีดาษลิง" อย่างไรเป็นไปตามข้อมูลว่าป้องกันได้ 85% จริงหรือไม่
ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งสามารถตรวจเชื้อ "ฝีดาษลิง" ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สามารถยื่นเรื่องทดสอบความชำนาญ ซึ่งหากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะอนุญาตให้ตรวจได้ภายใต้มาตรฐานห้องแล็บชีวนิรภัยระดับ 2 เสริมสมรรถนะ เพื่อให้มีห้องแล็บตรวจในพื้นที่มากขึ้น สำหรับประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องตรวจหา "ฝีดาษลิง" ยกเว้นมีความเสี่ยงหรือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด
อย่าไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การระบาดของ "ฝีดาษลิง" ขณะนี้ พบว่า การติดเชื้อทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งจะมี 2 สายพันธุ์ใหญ่คือ B.1 และ A.2 ที่พบมากคือ B.1 ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทั่วโลกกว่า 3 หมื่นราย ส่วนประเทศไทย ยังพบผู้ติดเชื้อ 4 ราย จำนวนยังน้อยอยู่ ซึ่งไทยพบเป็น A.2 มากกว่า จำนวน 3 ราย โดยมี B.1 เพียงรายเดียว คือ รายที่ 2 ชายไทย รักษาที่ รพ.วชิระพยาบาล ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเพราะเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกเหมือนกัน อาการจะไม่รุนแรง ต่างกับสายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่จะอาการรุนแรงมากกว่า ทั้งนี้ ทั่วโลกมีผู้ป่วย 3 หมื่นกว่าราย ยืนยันเสียชีวิต 5 ราย ถือว่าสัดส่วนน้อย สาเหตุส่วนใหญ่คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายมีอาการหนักเพราะติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวกับ โรคฝีดาษลิง ทำให้เมื่อมีผื่นขึ้นจึงรีบมาขอตรวจหาเชื้อ แนะนำว่าหากมีผื่นหรือความผิดปกติใดๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ ร่วมกับดูประวัติเสี่ยงว่าสมควรตรวจหาเชื้อหรีอไม่ เนื่องจากต้องอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนโรค