ข่าว

ย้อนประวัติ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ หลังโดนเด้งฟ้าผ่า

ย้อนประวัติ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ หลังโดนเด้งฟ้าผ่า

18 ม.ค. 2566

เปิดประวัติ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ หลัง รมว. ยุติธรรม ลงนามคำสั่งโยกย้าย จาก อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไป รักษาราชการผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

เป็นกรณีฟ้าผ่าลงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่สังคมให้ความสนใจ หลัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามในคำสั่งลงวันที่ 18 ม.ค.2566 เรื่อง มอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ราชการและรักษาราชการแทน โดยให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และให้ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้การบริหารงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

หนังสือคำสั่งโยกย้าย ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์


ในท่ามกลางกระแสข่าว มีการตั้งข้อสังเกตถึงกรณีการสั่งปลดครั้งนี้ ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกี่ยวข้องกับกรณี เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจ ร่วมกับตรวจค้นบ้านพักกงสุลใหญ่ของสาธารณรัฐนาอูรู ประจำประเทศไทย ที่มีการระบุว่า ถูกใช้เป็นสถานที่กระทำสิ่งผิดกฏหมายของกลุ่มทุนจีนสีเทา ซึ่งต่อมาเกิดข่าวการเรียกรับสินบนร่วม 10 ล้านบาท พร้อมปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดจนหลบหนีออกนอกประเทศได้
 

ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์

สำหรับประวัติ นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ ชื่อเล่นว่า หมอต้น  เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงชีวิตในวัยเด็กนั้น ได้ติดตามคุณพ่อรับราชการเป็นนายแพทย์ คุณแม่เป็นพยาบาล ชีวิตในวัยเด็กของ นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ เติบโตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามการโยกย้ายของคุณพ่อ ทั้ง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ เรียนจบแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รหัส 2526  จากนั้นทำการศึกษาต่อจนจบเป็นผู้เชี่ยวชาญวุฒิบัตรด้านนิติเวชศาสตร์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากนั้นรับราชการเป็นหัวหน้าห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินและนิติเวช ซึ่งเป็นแพทย์นิติเวชคนแรกของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานี จากนั้นเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี(ศูนย์มะเร็งเดิม) จนดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ


ในปี 2547 นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ ได้เข้ารับราชการ ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยการเชิญชวนจาก คุณหญิงหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ จากนั้นเส้นทางชีวิตในการทำงานของ นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ ก็เจริญเติบโตตามลำดับ  จนถึงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์   โดยความรู้ความสามารถของ นายแพทย์ไตรยฤทธิ์  ได้ผ่านหลักสูตรผู้บริหารงานจำนวนมาก อาทิ หลักสูตรการบริหารงานสายการแพทย์ทหารอากาศชั้นสูงรุ่นที่ 18 หลักสูตรนักบริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (ยธส.) รุ่นที่ 1  หลักสูตรผู้บริหารงานยุติธรรมระดับสูง (บธส.)รุ่นที่ 1 หลักสูตรเพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ รุ่นที่ 5 และผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รุ่นที่ 21 และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 61 เป็นต้น 
 

ต่อมาได้มีคำสั่งย้าย ให้ นายแพทย์ไตรยฤทธิ์  มารับราชการตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ตามลำดับ และเคยทำหน้าที่รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 


ก่อนที่ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ/เห็นชอบเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงยุติธรรม จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ โดยได้ นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ส่วนในเรื่องของผลงานของ  นายแพทย์ไตรยฤทธิ์  ที่ผ่านมา เมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้วนั้น พบว่า มีผลงานที่โดดเด่น โดยเฉพาะในด้านการสืบสวนสอบสวน ไม่ว่าจะเป็น เป็นประธานคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อการยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด (หัวหน้าคณะพาลีปราบยา 16 ชุด) รวมทั้งการผลักดันให้สำนักงาน ป.ป.ส. จัดหาเครื่องมือพิเศษในการสืบสวนทางเทคโนโลยีชั้นสูง มาใช้ในการปฏิบัติงานปราบปรามและยึดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด ทำให้ช่วงเวลานั้น ได้มีการระบุตรวจเลขในการยึดทรัพย์ของเครือข่ายยาเสพติดได้มากถึงประมาณ 7,000 ล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้คือ 6,000 ล้านบาท


รวมทั้งในระหว่าง นายแพทย์ไตรยฤทธิ์   ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ได้มีการวางรูปแบบการทำงาน โดยได้นำระบบการสืบสวนสอบสวนออนไลน์ เข้ามาใช้งานในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ เช่น กรณีหลอกลวงให้ลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex-3D) ซึ่งในคดีดังกล่าวนี้ มีผู้เสียหายจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้การทำงานของการสอบปากคำการสอบสวนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องของการครอบคลุมการลงทะเบียนของผู้เสียหาย รวมไปถึงการรวบรวมพยานหลักฐานในการทำสำนวนคำฟ้อง ที่นำไปสู่การสั่งฟ้องผุ้ต้องหา 4 ราย ได้ ทั้งที่เป็น บุคคลและนิติบุคคล